สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ว่านายแอร์ลังโก ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย แถลงว่า มาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มมีผลอย่างเป็นทางการแล้ว โดยครอบคลุมทั้งน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธี น้ำมันเมล็ดในปาล์มบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์ปาล์มจากเทคโนโลยี POME (palm oil mill effluent) และน้ำมันปาล์มที่ใช้ประกอบอาหารแล้ว


ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ จนกว่าราคาน้ำมันปาล์มเพื่อการประกอบอาหารในอินโดนีเซีย จะลดลงเหลือไม่เกิน 14,000 รูเปียห์ต่อ 1 ลิตร (ราว 33.35 บาท) ตามที่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด กล่าวว่า มาตรการระงับส่งออกน้ำมันปาล์มจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดภายในประเทศ ท่ามกลางภาวะราคาอาหารเฟ้อซึ่งพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน


แม้การให้ข้อมูลของฮาร์ตาร์โตยังคงขัดแย้งกับข้อมูล ที่กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียเปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ว่ามาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม ไม่รวมน้ำมันปาล์มดิบ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่า อาจเป็นการกลับลำในนาทีสุดท้าย


ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ครองสัดส่วนตลาดมากถึง 1 ใน 3 แต่อุปสงค์จากนานาประเทศ โดยเฉพาะจีนและอินเดียซึ่งสูงกว่าปกติ ตั้งแต่ต้นปีนี้ กอปรกับวิกฤติสงครามในยูเครน ที่ยังไม่มีฝ่ายใดสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะยุติเมื่อใด ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย


นอกจากนี้ ไม่เพียงเฉพาะการซื้อขายระดับรัฐต่อรัฐแล้ว บริษัทผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนรายใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น เนสท์เล่ ยูนิลีเวอร์ และ พรอกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (พีแอนด์จี) ล้วนเป็นผู้สั่งซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของอินโดนีเซียเช่นกัน.

เครดิตภาพ : REUTERS