เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ซึ่งเป็นของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “โลมาอิรวดี” ซึ่งเป็นโลมาน้ำจืดที่หายากของไทยว่า หลังจากการสำรวจเมื่อ 30 ปีก่อนพบว่ามีโลมาอิรวดีมากว่า 100 ตัว แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยพบเหลือเพียงแค่ 14 ตัวเท่านั้น และเป็นโลมาฝูงสุดท้ายที่เหลือรอดชีวิตแล้วในทะเลสาบสงขลา

โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ยังอธิบายว่าเมื่อ 6 พันปีก่อน “โลมาอิรวดี” สัตว์เฉพาะเขตอินโดแปซิฟิก หากินตามชายฝั่งไปทั่ว มีโลมาฝูงหนึ่งเข้ามาอยู่ในทะเลเหนือแผ่นดินพัทลุง/สงขลา ระดับน้ำทะเลเริ่มลดต่ำลง จนทะเลกลายเป็นทะเลสาบ เหลือเพียงช่องแคบ ๆ ที่ยังเชื่อมต่ออยู่กับทะเลข้างนอก แต่โลมายังมีความสุขอยู่ในทะเลสาบ ที่นี่ไม่มีผู้ล่าลูกๆ ของพวกเธอ ยังมีปลากินเยอะแยะเลย ทะเลสาบสงขลาในสมัยก่อนที่สมบูรณ์สุดขีด โลมาออกลูกหลานจนเป็นร้อยๆ ตัว แล้วมนุษย์ก็เข้ามา…

สมัยก่อน ความต้องการไม่มาก โลมายังมีความสุข พวกเธอว่ายไล่เลาะเลียบเรือลำน้อยของชาวประมง เราอยู่ด้วยกันได้ ทว่า…คนมีมากขึ้น จับปลามากขึ้น ยังมี…การปล่อยปลาบึกลงในทะเลสาบ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ทำให้เครื่องมือประมงเปลี่ยนไป มุ่งหวังจับปลาบึก โลมากับปลาบึกขนาดใกล้เคียงกัน โลมาไม่เคยรู้จักเครื่องมือชนิดใหม่ หลบไม่เป็น หนีไม่รอด โลมาหายใจด้วยปอด โลมาติดอวนจมน้ำตาย

ข้อมูลสถิติบ่งชี้ชัด ก่อนหน้านี้ โลมาตายเฉลี่ยปีละ 4-5 ตัว ปล่อยปลาบึกปี 2545-51 พอปลาโต คนเริ่มจับ ในช่วงปี 2550-2555 โลมาตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัวหลังจากนั้น จำนวนตายเริ่มลดลง ไม่ใช่เพราะเราแก้ปัญหาได้ แต่เป็นเพราะโลมาลดลง จนไม่มีเหลือให้ตายยังรวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปลาที่เป็นอาหารถูกจับจนเหลือน้อย น้ำตื้นมากขึ้นจากตะกอนที่ไหลมาจากการเปิดหน้าดิน ฯลฯ จนถึงเลือดชิด ประชากรเหลือน้อยมาก ผสมพันธุ์กันเอง แต่ละปัญหานำพามาสู่เลข 14 และอาจเป็น 14 สุดท้ายที่จะสูญสิ้นในรุ่นเรา ตายเหี้ยน หมดสิ้น สูญพันธุ์

ผศ.ดร.ธรณ์ ยังเผยด้วยว่า อีกกี่ปี ? นั่นคือประโยคที่ผมถาม ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลหายากระดับสูง ว่าถ้าตายปีละ 2 ตัว ก็อาจ 10-15 ปี ถ้าตายปีละ 3 ก็อยู่ที่ 8-10 ปี แต่ถ้าตายปีละ 4-5 ไม่ต้องคิดอะไรอีกแล้ว ทว่า…ถ้าตายปีละตัว จำนวนอาจเพิ่มขึ้น อย่างช้า ๆ แต่ก็เพิ่ม…

ภายหลังจากชาวเน็ตพบเห็นข้อความของ ผศ.ดร.ธรณ์ ต่างเข้าไปแสดงความเห็นกันอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่จะแชร์และแสดงความห่วงใยประชากรของโลมา รวมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย.