นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังได้ปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 65 ลดลงจาก 4% ต่อปี เหลือขยายตัวที่ 3.5% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3-4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังกระทบให้ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 จะอยู่ที่ 5% ต่อปี หรือในช่วงคาดการณ์ที่ 4.5-5.5%
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปี 64 ที่ขยายตัว 1.6% ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี ภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามา 6.1 ล้านคน เพิ่มจากปี 64 ที่มี 0.4 ล้านคน ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 6%
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยปี 65 ภาครัฐมีการใช้จ่ายงบประมาณปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3.18 แสนล้านบาท รวมทั้งยังมีเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินที่ยังเหลืออีก 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 4.6% ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5%
นายพรชัยกล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือน ที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยกระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ