เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการจัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มีนักลงทุน ภาคเอกชน ทั้งไทย และต่างชาติ สถาบันทางการเงิน และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งความคิดเห็นที่ได้จากการประชุม รฟท. จะใช้เป็นข้อมูลประกอบในการศึกษา และออกแบบโครงสร้างของรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน และประกอบการจัดทำเอกสารการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนให้เหมาะสมต่อไป
นายคณพศ วชิรกำธร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า โครงการรถไฟสายสีแดง สัมปทาน 50 ปี มูลค่าการลงทุนรวม 4.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งานโยธา งานระบบ และจัดหาขบวนรถ 1.88 แสนล้านบาท, การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 2.22 แสนล้านบาท และงานเพิ่มเติม 3.87 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้มี 6 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่เปิดบริการแล้ว 2 เส้นทาง วงเงินรวม 1.09 แสนล้านบาท ได้แก่ 1. ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร (กม.) และ 2.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กม และเส้นทางส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ยังไม่ได้ก่อสร้าง ได้แก่ 1.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือ Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท ทางวิ่งเป็นระดับดิน, ยกระดับ และใต้ดิน มี 9 สถานี ผู้โดยสาร 7 หมื่นคนต่อวัน
2. สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท ทางวิ่งระดับดิน มี 4 สถานี ผู้โดยสาร 3 หมื่นคนต่อวัน, 3.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 4. สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท ซึ่งสายสีแดงอ่อน มีทางวิ่งทั้งระดับดิน และยกระดับ มี 7 สถานี ผู้โดยสาร 3.8 หมื่นคนต่อวัน ทั้งนี้ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแล้ว รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว มีเพียงช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต อยู่ระหว่างการพิจารณา
นายคณพศ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.65 จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โครงการรถไฟสายสีแดง เริ่มจากการทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และร่างสัญญาร่วมลงทุน จากนั้นเดือน มิ.ย.65-ก.ค.66 เป็นขั้นตอนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เริ่มก่อสร้างปลายปี 66 โดยช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปลายปี 69 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 2.5 แสนคนต่อวัน ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการต้นปี 71 คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการครบทั้ง 6 เส้นทาง จะมีผู้โดยสาร 4 แสนคนต่อวัน และปีเปิดที่ 50 จะมีผู้ใช้บริการ 1.3 ล้านคนต่อวัน ทั้งนี้ผลตอบแทนโครงการ 50 ปี มีรายได้ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท
นายคณพศ กล่าวด้วยว่า สำหรับรูปแบบการลงทุน เป็นแบบ PPP Net Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน งานโยธา และงานระบบ ส่วนเอกชนจัดหาขบวนรถ เดินรถ และจัดเก็บรายได้ โดยชำระค่าสัมปทาน และผลตอบแทนให้แก่รัฐ อย่างไรก็ตามรายละเอียดเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) มี 5 ซองข้อเสนอ ได้แก่ 1.ซองเปิดผนึก, 2.ซองปิดผนึก ซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ, 3.ซองปิดผนึก ซองที่ 2 ด้านเทคนิค, 4.ซองปิดผนึก ซองที่ 3 ด้านการเงิน ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอรายใดให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปตัวเงินกับ รฟท. สูงสุด จะเป็นผู้ชนะประมูล และ 5.ซองปิดผนึก ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ต้องเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งซองนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเปิดซองหรือไม่เปิดก็ได้