สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ว่าตัวเลขของภัยพิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น อัคคีภัย และอุทกภัย แต่ก็มีอันตรายอื่นด้วยเช่นกัน อาทิ โรคระบาด และอุบัติเหตุทางสารเคมี อาจเกิดขึ้นมากถึง 560 ครั้งต่อปี หรือคิดเป็น 1.5 ครั้งต่อวัน ภายในปี 2573 ทำให้ชีวิตนับล้านตกอยู่ในอันตราย สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีอาร์อาร์) ระบุในรายงานการประเมินโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดเหตุสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น รายงานระบุ และด้วยการตัดสินใจของมนุษย์ ที่มีจุดสนใจแคบเกินไป และมองโลกในแง่ดีมากเกินไปในเรื่องความเสี่ยงของภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ทำให้พวกเขาไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้

นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่า ผลกระทบของภัยพิบัติต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นตามประชากรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดภัยธรรมชาติ

“ประชาคมโลกจำเป็นต้องจริงจังมากกว่านี้ เพื่อรับมือความเสี่ยงทางภัยพิบัติในวิธีที่เราอยู่, สร้าง และลงทุน ซึ่งกำลังตั้งมนุษยชาติให้อยู่บนวังวนของการทำลายตัวเอง” อามีนา เจ. โมฮัมเหม็ด รองเลขาธิการยูเอ็น ผู้นำเสนอรายงานที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก กล่าว

“เราต้องเปลี่ยนความชะล่าใจร่วม ให้กลายเป็นการปฏิบัติ”

ภัยพิบัติส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี ลดลงเฉลี่ยถึง 1% ต่อปี เมื่อเทียบกับการลดลงเพียง 0.1-0.3% ต่อปี ในประเทศพัฒนาแล้ว รายงานระบุ

นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับความเสียหายมากที่สุด โดยจีดีพีลดลงเฉลี่ย 1.6% ต่อปี เนื่องจากภัยพิบัติ

บรรดาประเทศกำลังพัฒนามีแน้วโน้มที่จะทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่า

ความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัตินับตั้งแต่ปี 2523 ได้รับประกันเพียงแค่ 40% เท่านั้น และอัตราความคุ้มครองประกันภัยในประเทศกำลังพัฒนาก็ใกล้เคียงจำนวนศูนย์ในบางครั้งอีกด้วย รายงานระบุ

“ระบบการเงินจำเป็นต้องนำหน้าอุปสรรคนี้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ที่ไม่อาจกำหนดราคาจากการตัดสินใจของเราได้” เจนตี เคิร์ช-วู้ด ประสานงานผู้เขียนนำของรายงาน บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES