นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีหลายภาคส่วนกังวลว่าน้ำมันจะขยับสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนผลิตและค่าขนส่ง และจะส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าอุปโภคและบริโภคขยับราคาสูงขึ้นตามมานั้น เรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้นโยบายมาตั้งแต่ต้นและติดตามหากจะเกิดผลกระทบต่อราคาสินค้า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์โดย ให้กรมการค้าภายในขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องตรึงราคาสินค้า 18 หมวด ได้แก่ อาหารสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง

“ทั้งนี้ การพิจารณาปรับราคาสินค้า จะต้องพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริงและเป็นกรณีไป เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายมีต้นทุนไม่เท่ากัน ที่สำคัญหากมีการปรับราคาจะต้องไม่เป็นภาระกับผู้บริโภคมากจนเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้และสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ซึ่งทุกอย่างต้องสมเหตุสมผล ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีนโยบายให้ปรับราคาสินค้าและยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าแต่อย่างใด” นางมัลลิกา กล่าว

และ 2.ได้ขอความร่วมมือห้างไม่ปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และหากมีผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายแจ้งขอปรับราคากับห้างขอให้แจ้งกรมการค้าภายในทราบก่อน และให้จัดเตรียมสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีปริมาณเพียงพอและต่อเนื่อง เติมสต๊อกสินค้าและชั้นวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค

รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน เช่น น้ำมันพืช ข้าวสาร นอกจากนั้นได้สั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจ เพื่อติดตามราคาจำหน่ายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต มิให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากพบว่ามีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 กรมการค้าภายในหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

“แผนดำเนินงานเพื่อลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มช่องทางการซื้อสินค้าราคาประหยัดให้แก่ประชาชน โดยจัดทำโครงการ Mobile พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาถูกว่าท้องตลาด ลดสูงสุด 60% สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ไข่ไก่เบอร์ M คละใหญ่ เบอร์ 2-3 น้ำตาลทราย ข้าวสาร น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แชมพู สบู่ ซอสปรุงรส  น้ำยาซักผ้า ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เป็นต้น สินค้าเกษตรตามฤดูกาล เช่น มะม่วง ทุเรียน สับปะรด เป็นต้น ซึ่งช่องการจำหน่ายแบ่งเป็น รถ Mobile 25 คัน และจุดจำหน่าย 75 จุด สถานที่จำหน่ายในพื้นที่เขต กทม. 50 เขต ตามแหล่งชุมชน เคหะชุมชน หรือสำนักงานเขต ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบจุดจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน ระยะเวลาดำเนินการเฟสนี้คือ จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ”

อย่างไรก็ตาม นางมัลลิกา ระบุว่า ค่าน้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนสินค้า แต่น้ำมันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของต้นทุนการผลิต โดยค่าขนส่งไม่ถึง 10% (สูงสุด 8.75%) ของต้นทุนสินค้า และค่าน้ำมันดีเซลคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 40% ของต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของสินค้าแต่ละรายการ น้ำมันดีเซลมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าแต่ละรายการไม่เท่ากัน โดยรวมถือว่ามีผลน้อยมาก โดยราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.50 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0002%-0.08% กรณีปรับขึ้นทุกๆ 1 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0004%-0.15% ดังนั้นทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์โดยการสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “จุรินทร์” ให้ดูแลอย่างใกล้ชิดในเรื่องราคาสินค้าหากมีการเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล