เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เวลา 07.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงตลาดสะพาน 2 เขตวังทองหลาง และตลาดโชคชัย 4 เขตลาดพร้าว พร้อมสำรวจทางเท้าบริเวณตลาดริมถนนลาดพร้าว ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ระหว่างเดินสำรวจพบปัญหาผิวทางเท้าขรุขระ แผ่นกระเบื้องไม่แน่น มีสิ่งกีดขวางทางเดินรวมถึงป้ายต่างๆ ผู้สูงอายุ คนพิการใช้งานไม่สะดวก สายสื่อสารไม่เป็นระเบียบ ทางม้าลายไม่ปลอดภัย และปัญหาความสะอาด

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาหาบเร่แผงลอยและทางเท้าเป็นปัญหามานาน แต่เราควรให้สิทธิคนเดินเท้าก่อน บริเวณตลาดสะพานสอง เดิมด้านหน้าตลาดมีผู้ค้าทั้ง 2 ฝั่ง ไม่มีทางเดินเลย ต่อมามีการจัดระเบียบให้ขายได้ฝั่งเดียวและเว้นทางเดินไว้ 2 เมตร ทำให้ผู้ค้าและผู้ใช้ทางเดินเท้าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทั้งนี้จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการร้านค้าริมทางเท้าระบุว่าหลังจากมีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ทำให้มีคนเดินมากขึ้น และมีคนแวะซื้อร้านค้าริมทางเท้ามากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มองว่าเรื่องหาบเร่แผงลอยต้องอย่าเอามาเป็นประเด็นในการหาคะแนนกับพ่อค้าแม่ค้า ต้องเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักก่อน รวมถึงพิจารณาว่ามีที่ว่างเพียงพอ ความสะอาด เพียงพอหรือไม่ จัดระเบียบให้ดีให้สิทธิคนเดินเท้าก่อน หากมีพื้นที่เพียงพอจึงมาพิจารณาพื้นที่ค้าขายอีกครั้งภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีระเบียบ ไม่ลิดรอนสิทธิคนเดินเท้า

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่านโยบาย “เดินทางดี” ด้วยการพัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม. 50 เขต ไม่ได้เยอะไปเฉลี่ยแล้วเขตละ 20 กม. ที่ผ่านมา เขตอาจได้รับจัดสรรงบประมาณในการดูแลทางเท้าไม่เพียงพอ ทำได้แค่ซ่อม หรือปรับปรุง หากตนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานวันแรก มีเป้าหมายให้ทุกเขตแจ้งลำดับความสำคัญทางเท้าที่คนใช้เยอะรวมถึงมีผู้สูงอายุ และผู้พิการใช้ด้วย เพื่อจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงก่อน เราต้องให้ความสำคัญกับทางเท้าเพราะคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

นอกจากนี้ถนนลาดพร้าวจะมีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ แต่เราต้องพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยให้มีคุณภาพ เช่น ทางเดินเท้า ซึ่งถนนลาดพร้าว มีทางเดิน หรือฟุตปาธ ค่อนข้างกว้าง ระหว่างลงพื้นที่พบว่ามีประชาชนใช้รถจักรยานในการสัญจร ในอนาคตหากทางเท้ามีขนาดกว้างเพียงพออาจจะให้ปั่นจักรยานบนฟุตปาธได้เหมือนที่ญี่ปุ่น และทำจุดจอดจักรยาน แต่ก่อนทำจะต้องถามความต้องการประชาชนก่อนว่าต้องการหรือไม่ หรือต้องการอะไร

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ปัญหาการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่มีผลต่อการสัญจรของประชาชน กทม.ต้องจริงจังเรื่องนี้การร่างสัญญาจ้างต้องรัดกุม เข้มงวด ไม่ใช่ให้มีการขยายเวลาได้เรื่อยๆ หากผู้รับเหมาใดมีปัญหาเรื่องงานล่าช้าให้ขึ้นบัญชีดำไว้ ขณะเดียวกัน แม้มีโครงการอื่นๆ ที่ กทม.ไม่ได้ทำ เช่น รถไฟฟ้า แต่ กทม.ในฐานะเจ้าของบ้าน ต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อบรรเทาปัญหาและลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน