เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ในปี 2564 นี้ ซึ่งเป็นการจัดประชุมผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 16 –31 ก.ค.นี้ โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ โดยคราวนี้ คณะกรรมการมีมติให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ เชิงอนุรักษ์ระดับโลก โดยพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานนั้น เป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย

แหล่งข่าวในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เปิดเผยว่า บรรยากาศในที่ประชุมผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น คณะทำงานของประเทศไทยค่อนข้างตื่นเต้น และกระตือรือร้น เพราะครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 แล้ว สำหรับการนำเสนอให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยระหว่างการพิจารณานั้น เมื่อทาง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) กล่าวเปิดประเด็นเพื่อเสนอให้ กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ประเทศแรกที่ยกมือสนับสนุน คือ รัสเซีย ต่อมาประเทศนอร์เวย์ ได้ขึ้นกล่าวคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เพราะยังติดใจในประเด็นการจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน

อย่างไรก็ตาม นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในอนุสัญญามรดกโลก กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ได้มีการจัดการดูแลความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เป็นอย่างดี และทุกคนก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการทุกอย่างตามคำแนะนำที่ไอยูซีเอ็น และประเทศอื่นๆ ที่แสดงความเป็นห่วงติติง จากการประชุมครั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างดีแล้ว

หลังจากนั้น ก็มีผู้แทนจากประเทศ อียิปต์ เอธิโอเปีย และประเทศโอมาน ขึ้นกล่าวสนับสนับสนุนให้ป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยผู้แทนจากประเทศโอมาน ระบุว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ของโลกที่มีการจัดการพื้นที่ป่าเป็นอย่างดี และมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีพืชและสัตว์ป่าที่มีความสำคัญมากกว่า 700 ชนิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ ที่สนับสนุนให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สเปน ออสเตรเลีย มาลี บราซิล จีน ไนจีเรีย เมียนมา และกัวเตมาลา มีเพียงประเทศนอร์เวย์ ประเทศเดียวที่คัดค้าน.