นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระแสข่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้ และผลักดันโครงการคนละครึ่งเฟส 5 นั้นอาจเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะจากที่มีการหารือกันนายกฯ คือได้มอบให้กระทรวงการคลัง ไปพิจารณาแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการที่มีความจำเป็นเพิ่มเท่านั้น โดยไม่ได้พุ่งเป้าหมายไปที่การกู้เงินแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณารายละเอียดต่างๆ รวมถึงประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และความจำเป็นในการหาทางเข้าไปดูแล ตลอดจนการออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนเพิ่มเติม เช่น ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพด้านพลังงาน แบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีการนำงบกลางใช้มาแล้ว และหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็จะรายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบต่อไป

“ที่ผ่านมาเรากู้เงินไปเยอะแล้ว เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่ก็มีอีกบางประเทศที่มีการกู้เงินจำนวนมากกว่าเรา และขณะนี้หลายประเทศก็เริ่มเข้าสู่การฟื้นฟู่เศรษฐกิจแบบปกติ ดังนั้นการขับเคลื่อนจะเน้นไปที่การลงทุน ในส่วนของไทยก็คือการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องดูเรื่องของวินัยการเงินการคลังควบคู่กันไปด้วย แม้ขณะนี้รายได้ของรัฐจะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณ 64 ก็ตาม”  

นายอาคมกล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ยังต้องพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากเป็นมาตรการที่ใช้งบประมาณสูง และกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะที่การแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนนั้น ก็ช่วยในระดับหนึ่งในช่วงที่ยังเผชิญปัญหาเรื่องรายได้ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รายรับของประชนชนเริ่มกลับมา ก็ควรจะลดมาตรการดังกล่าวลงมา และปรับแนวทางการช่วยเหลือเข้าไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อทำให้ประชาชนกลับมามีรายได้เพิ่ม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ผลักดันมาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไปแล้ว

“ขณะที่ความคืบหน้าการใช้จ่ายภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ก็ยังกู้ไม่หมด คาดว่าเหลืออีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งการจะกู้ก็ต้องดูในเรื่องของความจำเป็นในการเงิน และเป็นการทยอยกู้ ไม่ใช่กู้มารอไว้”

รายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แจ้งว่า ปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ได้มีการแบ่งกรอบวงเงินสำหรับใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข 110,000 ล้านบาท ใช้เยียวยาช่วยเหลือประชาชนจากโควิด 220,000 ล้านบาท และงบสำหรับใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 170,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีการอนุมัติและเบิกใช้เงินอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหลือกรอบงบประมาณที่ยังไม่อนุมัติเพียง 70,000 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นหากจะนำมาใช้ในโครงการใดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หรืออาจหาวิธีนำงบประมาณจากแหล่งอื่นมาใช้ เช่น งบกลาง หรือเงินทุนสำรองจ่ายตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561