สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ว่าการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ “จี20” วาระพิเศษ เกี่ยวกับวิกฤติการณ์ในยูเครน เกิดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ โดยมีนางศรี มุลยานี อินทราวตี รมว.การคลังของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานจี20 ประจำปีนี้ ทำหน้าที่ประธาน


อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการคลังของสหรัฐ สหราชอาณาจักร และแคนาดา ตลอดจนผู้แทนของยูเครน ซึ่งได้รับเชิญเป็นกรณีพิเศษ ร่วมกันวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม เมื่อมีการเชิญให้นายทิมูร์ มักซิมอฟ รมช.การคลังของรัสเซีย กล่าวถ้อยแถลง ขณะที่นายอันโทน ซิลูอานอฟ รมว.การคลัง และนางเอลวินา นาบิลลินา ประธานธนาคารกลางรัสเซีย เข้าร่วมผ่านระบบทางไกลอิเล็กทรอนิกส์


ด้านรัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซียยอมรับว่า บรรยากาศดังกล่าว “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” และ “เป็นความท้าทายใหม่” ของจี20 เธอกล่าวด้วยว่า หลายประเทศแสดงจุดยืนต่อต้านสงครามในยูเครน แต่ปฏิเสธเอ่ยชื่ออย่างเป็นทางการ โดยกล่าวว่า จี20 เป็นการรวมกลุ่มซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระดับพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ


ต่อมากระทรวงการคลังของรัสเซียออกแถลงการณ์ เรียกร้องจี20 ไม่ควรนำเรื่องการเมืองมารวมกับประเด็นทางเศรษฐกิจ และวิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก ว่าจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ความมั่นคง และเสถียรภาพของกลไกการค้า และการเงินระหว่างประเทศ


ปัจจุบัน รัสเซียยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกของจี20 แต่บรรยากาศภายในสมาคมแห่งนี้ตึงเครียดมากขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ในยูเครน โดยรายงานหลายกระแสจากฝั่งตะวันตกระบุว่า สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกที่เป็นสมาชิกจี20 ต้องการขับรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิก


ขณะที่จีนซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย แสดงออกชัดเจนว่า คัดค้านความพยายามในเรื่องนี้ และตำหนิรัฐบาลวอชิงตัน ว่าไม่มีสิทธิปลดประเทศไหนออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือใด.

เครดิตภาพ : REUTERS