เมื่อเวลา 13.00น. วันที่ 20 เม.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงเขตสาทร และเขตยานนาวา เริ่มตั้งแต่ตลาดริมฟุตปาธซอยสวนพลู จากนั้น ลงพื้นที่ 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู และชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ก่อนเดินหาเสียงต่อที่ตลาดคุณหญิงบุญมี ถนนจันทน์ ตลาดสะพานสาม และตลาดนัดวัดดอกไม้

นายชัชชาติ เปิดเผยว่าจากการลงพื้นที่บริเวณซอยสวนพลู ประชาชนสะท้อนปัญหาได้รับผลกระทบจากการขุดถนนทำท่อระบายน้ำ ทำท่อประปา และหยุดการก่อสร้างไป ใช้เวลาในการทำงานนาน ส่งผลให้ประชาชนเดินทางสัญจรไม่สะดวก ในส่วนนี้ต้องมีการเร่งรัดโครงการก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อประชาชน ให้มีคุณภาพและไม่กระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องถังขยะไม่เพียงพอ การระบายน้ำค่อนข้างช้า จำเป็นต้องแก้ไข ส่วนชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เคยถูกเพลิงไหม้ทั้งหมดเมื่อปี 2547 แต่สามารถออมเงินจนสามารถสร้างที่อยู่ได้สำเร็จ และมีเงินออมอีกกว่า 10 ล้านบาท เป็นต้นแบบการออมของชุมชนอื่นๆ ได้

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ได้กล่าวถึงกรณีคนเร่ร่อนบุกใช้มีดไล่ทำร้ายร่างกายประชาชนภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้รับบาดเจ็บ 2 รายว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และสะท้อนปัญหาที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน กับจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างบางครั้งเป็นเรื่องการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงาน คือ กทม. กับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตนมองว่า กทม.ควรเป็นหน่วยงานเชิงรุกก่อน จากนั้นร่วมมือ พม.แก้ปัญหาระยะยาว

“อันดับแรก กทม.ต้องลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลคนไร้บ้านว่าอยู่จุดใดบ้าง ได้รับสิทธิสวัสดิการที่ควรได้รับครบถ้วนหรือไม่ อันดับสอง กทม.ควรฟื้นบ้านอิ่มใจ ซึ่งเป็นที่พักคนเร่ร่อนชั่วคราว กลับมาให้บริการอีก มองว่ายังจำเป็นอยู่ สามารถช่วยเหลือคนเร่ร่อนได้พักอาศัยชั่วคราว ตอนเช้าไปหางานทำได้ อันดับสาม คนเร่ร่อนหลายคนมีอาการทางจิต กทม.ควรให้บริการด้านจิตเวชควบคู่กันไปด้วย จะได้แก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร และอันดับสี่ จัดพื้นที่จุดแจกอาหารให้ชัดเจน สำหรับผู้ใจบุญที่ต้องการแบ่งปัน แจกอาหารบางครั้งไปแจกริมถนน ทำให้คนเร่ร่อนไม่ไปไหน อยู่ติดริมถนนรอคนมาบริจาคอาหารหากจัดพื้นที่ได้ชัดเจน นอกจากเป็นจุดแจกอาหารที่เป็นระเบียบแล้ว สามารถดูแลและฝึกอาชีพให้เขาได้ด้วย” นายชัชชาติ กล่าว

เมื่อถามถึงนโยบายในการจัดการปัญหาชุมชนรุกที่สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาชุมชนรุกที่สาธารณะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ว่ามีจุดไหนบ้าง เพราะเขาจดทะเบียนชุมชนไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ และมีชุมชนเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ การแก้ปัญหาต้องจัดลำดับความสำคัญ ความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการก่อน เช่น โครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่เราย้ายชุมชนไปในเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการด้วยความอะลุ่มอล่วย มองในหลายมิติ ไม่เพียงแง่ของกฎหมายอย่างเดียว ต้องมองหลักมนุษยธรรมด้วย.