องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ในฐานะหน่วยงานพัฒนาการท่องเที่ยวและสร้างต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC)  เพื่อยกระดับคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้แนวนโยบาย BCG Model ซึ่ง อพท. เห็นว่า “เกาะหมาก”  ซึ่งอยู่ในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง  มีศักยภาพที่สามารถยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ BCG Model ด้านการท่องเที่ยวของประเทศได้ โดยนำร่องในส่วนของ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้น อพท.จึงจัดทำโครงการเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณขยะและประเภทของขยะ ที่เกิดจากการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะหมาก เพื่อเป็นฐานข้อมูลและนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ ที่สำคัญยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาเกาะหมาก สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบด้านการจัดการขยะบนพื้นฐานของ Circular Economy และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์อีกด้วย

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ขับเคลื่อนพื้นที่เกาะหมากให้เป็น โลว์คาร์บอน เดสติเนชั่น จนทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาขยะที่เกิดจากภาคการท่องเที่ยวอาจสร้างความไม่พึงพอใจต่อนักท่องเที่ยวรวมถึงชื่อเสียงของพื้นที่และประเทศได้ อพท.จึงเลือกเกาะหมากเป็นพื้นที่นำร่องดำเนินโครงการ Circular Economy โดยมีข้อมูลปริมาณขยะในพื้นที่เกาะหมากค่อนข้างครบถ้วน โดยเฉพาะขยะที่เกิดจากกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ประกอบกับพื้นที่เกาะหมากมีขนาดเล็ก เหมาะแก่การทำเป็นพื้นที่ตัวอย่างหรือพื้นที่ต้นแบบ อีกทั้งภาคธุรกิจ ชุมชน ในพื้นที่เกาะหมาก ต่างตื่นตัวให้ความร่วมมือ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดก็สนับสนุนเต็มที่

ปัจจุบันเกาะหมากมีที่พักทั้งโรงแรม โฮมสเตย์ เกสต์เฮ้าส์ รีสอร์ท โฮมเทล บ้านพักลานกางเต็นท์ รวม 37 แห่ง มีประชากรกว่า 700 คน แต่มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 149,000 คน ในปี 2563 โดยนักท่องเที่ยวสร้างปริมาณขยะมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อคนต่อทริป ขณะที่มีปริมาณขยะอินทรีย์ ล่าสุดในปี 2564 ประมาณ 24,969 กิโลกรัม ซึ่งการกำจัดที่ผ่านมามีทั้งการฝังกลบและรีไซเคิล หากไม่สามารถกำจัดได้ต้องนำขึ้นมาทำลายบนฝั่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงไม่คุ้มค่ากับเงินที่ได้จากการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาทำให้ทราบปริมาณขยะ เช่น พลาสติกใช้ครั้งเดียว แก้ว โลหะ กระดาษ เป็นต้น ได้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันเกาะหมากได้มีการรณรงค์และประกาศใช้ธรรมนูญเกาะหมาก ที่ไม่สนับสนุนให้ใช้วัสดุที่ทำจากโฟม หรือวัสดุก่อมลพิษใส่อาหารและห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ลงบนพื้นที่สาธารณะและแหล่งน้ำเด็ดขาด ซึ่งข้อมูลที่เกิดขึ้นของขยะภาคการท่องเที่ยว อพท. ได้นำไปต่อยอดจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะจากภาคการท่องเที่ยวฯ ได้ตรงประเด็นกับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะข้อมูลจำนวนขยะรีไซเคิล พบว่า มีปริมาณมากพอที่นำไปแปรรูปและพัฒนาเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะได้

ทั้งนี้ อพท. ยังต้องเก็บข้อมูลขยะโดยละเอียดมากขึ้นและต่อเนื่อง รวมถึงรณรงค์การลดการใช้พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวและทิ้งต่อไป ซึ่งตามแผนดำเนินการในปี 2565 อพท.จะจัดเก็บข้อมูลการคัดแยกขยะจากภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของปริมาณขยะ ขณะที่เกาะหมากก็ต้องตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะลงด้วยเช่นกัน โดยต้องสื่อสารให้ทั้งชุมชน และผู้ประกอบการทั้งภาคการท่องเที่ยว ให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการขยะ

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อสามารถรองรับการจัดการขยะที่เกิดขึ้นได้ มีระบบการจัดเก็บชัดเจน สามารถลดภาระการจัดการขยะที่ปลายทางได้ไม่มีการตกค้างของขยะแต่ละประเภท รวมทั้งมีการรณรงค์การลด การเลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวและได้รับความร่วมมือที่ดีและมีการบันทึกข้อมูลปริมาณขยะภาคการท่องเที่ยวที่มีหลักฐานรองรับ จะทำให้เกาะหมากมีความพร้อมที่จะขอรางวัลระดับประเทศได้ ที่สำคัญยังมีโอกาสเลื่อนขั้นของระดับการพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว “กรีน เดสติเนชั่น”  ได้ภายในปี 2570 ตามเป้าหมายอีกด้วย.