เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญ ประจำปี 2564 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ในการประชุมครั้งนี้ มีวาระพิจารณาการให้ความเห็นชอบกระบวนการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 ในอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ โดยจะร่วมกันคัดเลือกครูสุดยอดครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษาประเทศละ 1 คน สำหรับการคัดเลือกในประเทศไทย ได้กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญเพิ่มเติม คือ เป็นครูที่ปฏิบัติหน้าที่สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 15 ปี โดยจะมีการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา ในเดือนเมษายน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในระดับจังหวัด ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมนี้

ในที่ประชุมได้นำเสนอผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าของของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่ผ่านมา อาทิ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โครงการพูดอ่านเขียนไทย โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ จ.น่าน และราชบุรี โดยความร่วมมือของสภากาชาดไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ สพป.น่าน เขต 2 เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูไม่ครบชั้น และประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย จึงออกแบบสื่อการเรียนรู้และวิธีการทำงานเพื่อให้ครูในโรงเรียนสามารถสอนภาษาไทยได้ดีขึ้น โดยการจัดทำสื่อการเรียนภาษาที่หลากหลายเน้นการใช้ในชีวิตประจำวัน และมีอาสาสมัครการศึกษาในพื้นที่ที่พูดภาษาถิ่นได้ทำงานร่วมกับครูประจำวิชาและครูที่เชี่ยวชาญอย่างเป็นระบบ ซึ่งผลของการดำเนินงานพบว่า คะแนน NT ด้านภาษาไทย ดีขึ้นจาก 35.96 คะแนน ในปี 2562 เป็น 40.42 คะแนน ในปี 2563 และคะแนนการอ่าน จากเดิมที่ต่ำกว่าทุกสังกัด ในปี 2563 อยู่ที่ 74.34 คะแนน สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ อยู่ที่ 73.02 คะแนน และรูปแบบอาสาสมัครการศึกษา (อศม.) จะมีการขยายผลออกไปในพื้นที่ 14 จังหวัด

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศ สปป.ลาว ด้านศิลปวัฒนธรรมในนครเวียงจันทน์ โครงการศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ โดยการอบรมทักษะในศตวรรษที่ 21 การเป็นผู้ประกอบการ ทักษะด้านการเงิน และจัดกระบวนการ Design Thinking พร้อมกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้ประกอบการภาคเอกชนร่วมเป็นที่ปรึกษา โดยมีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศบรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เข้าร่วม และมีการศึกษาดูงานของครูและนักเรียน ณ สถานประกอบการ ธุรกิจสาขา รวมถึงการเสวนาออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานระหว่างครูใน 11 ประเทศ