สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ว่า สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน รายงานว่า ตัวอย่างจากดวงจันทร์ที่นำกลับมายังโลก โดยภารกิจฉางเอ๋อ-5 ( Chang’e-5 ) ของจีน ได้ช่วยให้คณะนักวิจัยเข้าใจ ต่อผลกระทบของละติจูดต่อการผุพังในอวกาศ ( space weathering ) บนดวงจันทร์ได้ดียิ่งขึ้น


ทั้งนี้ ผลกระทบของอุกกาบาตขนาดเล็ก ( Micrometeorite ) และรังสีลมสุริยะ ซึ่งเป็นกระบวนการผุพังในอวกาศส่วนใหญ่ ได้ดัดแปลงองค์ประกอบและพื้นผิวขนาดเล็กส่วนใหญ่ ของดินบนดวงจันทร์


คณะนักวิจัยอธิบายคุณสมบัติการผุพังในอวกาศของแร่ธาตุต่าง ๆ จากเศษหินบะซอลต์ ของตัวอย่างจากดวงจันทร์ โดยสังเกตพบว่าคุณสมบัติการผุพังขึ้นอยู่กับชนิดของแร่นั้น ๆ


การศึกษาดังกล่าว ซึ่งนำโดย หลิน หยางถิ่ง และหลี่ จินหัว จากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และร่วมมือกับนักวิจัยจีนหลายคน ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจดหมายงานวิจัยธรณีฟิสิกส์ ( Geophysical Research Letters )


คณะนักวิจัยใช้ชุดวิธีวิเคราะห์เพื่อหาข้อมูลทางสัณฐานวิทยา ( morphological ) การศึกษาแร่ ( mineralogical ) และผลึกศาสตร์ ( crystallographic ) จากเศษหินบะซอลต์ชิ้นหนึ่ง ของตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ โดยแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ปรากฏอยู่บนผิวเม็ดดิน


กู่ ลี่ซิน นักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และผู้เขียนรายงานวิจัยคนแรก กล่าวว่า ความเข้าใจกระบวนการและกลไกการผุพังในอวกาศอย่างลึกซึ้ง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจวิวัฒนาการของวัตถุพื้นผิวดวงจันทร์ และสภาพแวดล้อมในอวกาศ


นอกจานั้น การศึกษาเดียวกันนี้ยังพบว่า ดินจากดวงจันทร์ที่นำกลับโลกโดยภารกิจฉางเอ๋อ-5 นั้น ไม่มีความแตกต่างทางโครงสร้างขนาดเล็กที่มีนัยสำคัญ จากตัวอย่างซึ่งเก็บมาโดยภารกิจอะพอลโลของสหรัฐ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเล็กน้อยที่ขึ้นอยู่กับละติจูด ต่อการผุพังในอวกาศบนดวงจันทร์


อนึ่ง ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 กลับสู่โลก เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 โดยเก็บตัวอย่างดวงจันทร์รวม 1,731 กรัม ส่วนใหญ่เป็นหิน และดินบนพื้นผิวดวงจันทร์.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA