สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองลาซา ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ว่าสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรและปศุสัตว์ประจำเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดเผยว่า ข้าวบาร์เลย์ที่ราบสูง 3 สายพันธุ์ใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีสายพันธุ์ธัญพืชที่ไม่ใช่สายพันธุ์หลัก ซึ่งอนุมัติโดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีน


สำหรับข้าวบาร์เลย์ที่ราบสูง ซึ่งถือเป็นธัญพืชประกอบอาหารที่สำคัญของทิเบต ทั้งสามสายพันธุ์ใหม่ที่ขยายพันธุ์โดยสถาบันแห่งนี้ ได้แก่ จ้างชิง 20 (Zangqing 20) จ้างชิง 17 (Zangqing 17) และจ้างชิง 3000 (Zangqing 3000)


ถังย่าเว่ย รองผู้อำนวยการสถาบันการเกษตร สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรและปศุสัตว์ประจำเขตปกครองตนเองทิเบต กล่าวว่า ความสำเร็จของการขยายพันธุ์ทั้งสามสายพันธุ์นี้ มีนัยสำคัญต่อการรับรองความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมการฟื้นฟูชนบทของทิเบตอย่างมาก


ทั้งนี้ การทดสอบเพาะปลูกข้าว “จ้างชิง 17” เกิดขึ้นบนพื้นที่ภูเขา ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,200-4,500 เมตร และให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อหมู่ (ราว 0.4 ไร่) อยู่ที่ 320.5 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ยอดนิยมอย่าง สี่หม่าลา 19 (Ximala 19) ราวร้อยละ 13.9

ด้านรัฐบาลท้องถิ่นของเขตปกครองตนเองทิเบตวางแผน ดำเนินการเพาะปลูกสาธิต “จ้างชิง 3000” บนพื้นที่ 92,000 หมู่ (ราว 38,300 ไร่) ในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 5 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวบาร์เลย์ บนที่ราบสูงทั้งหมดในทิเบต โดยข้าวสายพันธุ์นี้ให้ผลผลิตจากการทดลองเพาะปลูกเฉลี่ยต่อหมู่ อยู่ที่ 291.1 กิโลกรัม.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA