สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ว่าเริ่มดำเนินโครงการจัดหาน้ำเพื่อเติมคลอง ต้าอวิ้นเหอ หรือคลองใหญ่ ( Grand Canal ) ซึ่งเป็นทางน้ำ เชื่อมพื้นที่ระหว่างตอนเหนือกับตอนใต้ของจีน


รายงานโดยกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน ระบุว่า ภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย์ และซานตง ดำเนินโครงการจัดหาน้ำราว 515 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเติมคลองต้าอวิ้นเหอตอนเหนือ ในส่วนที่แห้งเหือด


น้ำที่ใช้จะมาจากแหล่งน้ำอื่น ๆ รวมถึง โครงการผันน้ำใต้สู่เหนือบางส่วน น้ำรีไซเคิล และน้ำฝนสะสม โดยโครงการนี้จะเพิ่มพื้นผิวน้ำของคลอง จากปีก่อนประมาณ 9.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะช่วยปรับปรุงระบบนิเวศริมคลองด้วย

New China TV

อนึ่ง คลองต้าอวิ้นเหอมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,500 ปี เชื่อมต่อกรุงปักกิ่ง และนครหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน ถือเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในยุคจีนโบราณ


นอกจากนั้น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก ) ได้ขึ้นทะเบียนให้คลองต้าอวิ้นเหอ เป็นแหล่งมรดกโลก เนื่องจากถือเป็นทางน้ำก่อสร้างโดยมนุษย์ ซึ่งมีความยาวและความเก่าแก่มากที่สุดในโลก


อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ กิจกรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้คลองต้าอวิ้นเหอบางส่วนเริ่มแห้งเหือด เมื่อช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA