นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และโฆษก ขบ. เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ปรับปรุงการกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยควันดำให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 เม.ย.65

ดังนั้นจึงได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานค่าควันดำและวิธีการตรวจวัดที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ กรณีการตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดไม่เกิน 30% จากเดิม 45% และหากตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบกระดาษกรอง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดไม่เกิน 40% จากเดิม 50% ซึ่งเกณฑ์การตรวจควันดำใหม่ เริ่มมีผลบังคับใช้กับการตรวจวัดควันดำรถที่มาดำเนินการตรวจสภาพรถก่อนจดทะเบียน หรือตรวจสภาพรถก่อนชำระภาษีประจำปีที่สำนักงานขนส่ง และสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ทุกแห่งแล้ว

นายเสกสม กล่าวต่อว่า การปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำดังกล่าวนอกจากมีผลบังคับใช้กับสำนักงานขนส่ง และสถานตรวจสภาพรถแล้ว ยังนำไปใช้กับการตรวจควันดำบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดย ขบ. ได้ดำเนินการมาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง จัดผู้ตรวจการออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและรถโดยสาร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเพิ่มความถี่ในการปฏิบัติงานออกตรวจวัดควันดำทั่วประเทศ โดยเฉพาะบนถนนสายหลักและสายรองที่เข้า-ออกกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากตรวจวัดควันดำด้วยระบบวัดความทึบแสง แล้วมีค่าควันดำเกิน 30% หรือตรวจวัดควันดำด้วยระบบกระดาษกรอง แล้วมีค่าควันดำ 40% จะถูกเปรียบเทียบปรับสูงสุด 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถด้วยการพ่นข้อความ “ห้ามใช้” จนกว่าเจ้าของรถจะนำรถไปแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินกำหนด และนำมาตรวจสภาพอีกครั้งจนผ่านการตรวจวัดจึงจะนำไปใช้งานได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งและเจ้าของรถ ควรให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ รวมถึงการปรับพฤติกรรมการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะ