ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดถ้ำเอราวัณ ต.วังทอง อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู นายสุวิทย์ จันทร์หวร รองผวจ.หนองบัวลำภู เป็นประธานเปิดงานประเพณีขึ้นเขาไหว้พระวัดถ้ำเอราวัณ โดยอบต.วังทอง บูรณาการร่วมกับวัฒนธรรมจังหวัด มีน.ส.พัชนี สภา วัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู นายธนายุทธ ใยแก้ว นอภ.นาวัง นายทองคำ ประพฤติธรรม นายกอบต.วังทองหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน นักท่องเที่ยวเข้าร่วมจำนวนมาก

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยขบวนแห่ผ้าอังสะความยาว 70 เมตร ขึ้นเขาไหว้พระพระพุทธชัยศรีมหามุนีตรีโลกนาถ บริเวณปากถ้ำเอราวัณที่มีบันไดเดินขึ้น 611 ขั้น พิธีบวงสรวง สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพร คล้องมาลัยช้างเอราวัณ สักการะนางผมหอม และกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านของเยาวชนในเขตอำเภอนาวัง

นายธนายุทธ กล่าวว่า ถ้ำเอราวัณ หรือชาวบ้านเรียก เขาถ้ำช้าง ตามวรรณคดี ถ้ำเอราวัณเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่อยู่บนภูเขาสูงมีบันไดทางขึ้น621 ขั้น ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามวิจิตรพิสดาร ถ้ามองภายในถ้ำขึ้นข้างบนจะทะลุฟ้าคล้ายหอดูดาว และสามารถมองดูทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ ถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่เกิดตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง “นางผมหอม” ที่มีการเล่าสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ตามประวัติตำนานความเป็นมายาวนานหลายพันปี

นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้มีการเล่าสืบต่อกันมา แต่โบราณเล่าแบบมุขปาฐะ หรือปากต่อปาก ต่อมาบันทึกได้กลายเป็นวรรณกรรมหนังสือผูกใบลาน เขียนเป็นตัวหนังสือไทน้อย ใช้อ่านในงันเฮือนดีที่นำมาบันทึกได้จากนาย จารุบุตร เรืองสุวรรณ ปัจจุบันมีการนำมาเรียบเรียงขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรตีพิมพ์เป็นเอกสาร เป็นหนังสือตำนานนิทานพื้นบ้านนับเป็นวรรณกรรม ที่มีสถานที่เกิดอยู่ที่ถ้ำเอราวัณ อ.นาวัง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด

ด้าน น.ส.พัชนี กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ วิธี วิถีหนองบัวลำภู เป็นการยกระดับประเพณีวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีลุ่มภู เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวทางประเพณีวัฒนธรรมให้กับประชาชนในจังหวัด สร้างอัตลักษณ์และความโดดเด่นให้เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยกำหนดจัดกิจกรรมในพื้นที่อำเภอทุกอำเภอในจังหวัดหนองบัวลำภู รวม 6 ครั้ง เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดหนองบัวลำภู “หนองบัวลำภู เมืองน่าอยู่น่าเที่ยว” สำหรับจัดประเพณีขึ้นเขาไหว้พระวัดถ้ำเอราวัณ เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมสำคัญของชาวนาวัง รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดรายได้ให้กับชุมชน