สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต ประเทศจีน เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ว่า วังโปตาลา แลนด์มาร์คประจำเขตปกครองตนเองทิเบต ( ซีจ้าง ) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งแสดงการแต่งงานครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ฮั่น กับกลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต


จิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวแสดงภาพเจ้าหน้าที่ทิเบตโบราณยืนเรียงแถว เพื่อต้อนรับเจ้าหญิงเหวินเฉิงแห่งราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) ผู้เดินทางมาทิเบต เพื่ออภิเษกสมรสกับกษัตริย์ ซงจ้านก้านปู้ ของทิเบต ในคริสต์ศตวรรษที่ 7


นอกเหนือจากจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวแล้ว โบราณวัตถุอื่น ๆ ในทิเบตยังช่วยเปิดเผยการสื่อสาร และการบูรณาการทางวัฒนธรรม ระหว่างทิเบตกับภูมิภาคอื่นของจีน


เซี่ยเก๋อว่างตุย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยการปกป้องโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมทิเบต กล่าวว่า ไม่ควรพิจารณาที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต เป็นหน่วยทางภูมิศาสตร์ที่แยกตัวโดดเดี่ยว ทิเบตและพื้นที่โดยรอบมีการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคหินเก่า ทิเบตไม่ได้ปิดหรือแยกตัว โดยการค้นพบทางโบราณคดีให้หลักฐานอันเป็นรูปธรรมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน


จิตรกรรมฝาผนังหลายภาพที่แสดงการอภิเษกสมรส ระหว่างเจ้าหญิงเหวินเฉิงกับกษัตริย์ซงจ้านก้านปู้ ถูกพบในวัดพุทธซังเย๋ อันโด่งดังในเมืองซานหนานด้วย โดยวัดซังเย๋ถูกสร้างขึ้น เมื่อศตวรรษที่ 8 บนฝั่งเหนือของแม่น้ำหย่าหลู่ จ้างปู้ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ภายใต้การคุ้มครองระดับชาติ เมื่อปี 2539


ปาซาง พระจากวัดซังเย๋ เล่าว่า เจ้าหญิงเหวินเฉิงนำพืชผลพันธุ์ใหม่มาสู่ทิเบต และยังช่วยปรับปรุงพันธุ์ปศุสัตว์ในท้องถิ่น โดยเจ้าหญิงมีส่วนส่งเสริมการรวมกลุ่มทางชาติพันธุ์ ระหว่างชาวฮั่นกับชาวทิเบตอย่างมาก


เซี่ยเก๋อว่างตุย กล่าวว่า ทิเบตเป็นภูมิภาคที่มีแนวคิดและประเพณีข้ามวัฒนธรรมมากมายมาสอดประสานกัน เป็นวัฒนธรรมแห่งที่ราบสูง ซึ่งมีชีวิตชีวาตั้งแต่โบราณกาล โดยเซี่ยเก๋อว่างตุยมองว่า กลุ่มชาติพันธุ์เหมือนมหาสมุทร ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลเข้ามา และแม่น้ำเหล่านี้ล้วนมีกิ่งก้านสาขาของตนเอง ที่รวมเข้ากับทะเล ในที่สุดจึงรวมเป็นหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ ที่เราทุกคนมีอัตลักษณ์ร่วมกัน.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA