สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ว่าผู้โดยสารสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส คนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่า ผลักพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และถ่มน้ำลายใส่ลูกเรืออีกหลายคนด้วยนั้น โดนโทษปรับสูงสุดในประวัติศาสตร์กฎหมายการบินพลเรือนของสหรัฐ และผู้โดยสารอีกหนึ่งรายจากสายการบินเดลตา แอร์ไลน์ส ถูกปรับเป็นเงิน 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านบาท) เนื่องจากไปกัดผู้โดยสารร่วมทาง หลังจากที่พยายามกอดและจูบผู้โดยสารอีกคนหนึ่ง

นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 เมื่อ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (เอฟเอเอ) ใช้นโยบายความอดทนอดกลั้นเป็นศูนย์ และเรียกปรับเงินประมาณ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 235 ล้านบาท) สำหรับผู้โดยสารที่สร้างปัญหา ซึ่งการปรับ 2 ครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นบทลงโทษปรับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

เอฟเอเอ ได้เรียกปรับเงิน  81,950 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้าน 8 แสนบาท) ต่อผู้โดยสารสายการบินอเมริกัน แอร์ไลนส์ เที่ยวบินเดือน ก.ค. จากเมืองดัลลัส ในรัฐเทกซัส ไปยังเมืองชาร์ลอตต์ ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา เนื่องจาก “ผู้โดยสารข่มขู่ทำร้ายร่างกายพนักงานต้อนรับที่แสดงความช่วยเหลือแก่ผู้โดยสาร หลังจากที่เธอตกลงไปในช่องทางเดิน หลังจากนั้นผู้โดยสารได้ผลักพนักงานต้อบรับ และพยายามเปิดประตูห้องคนขับเครื่องบิน”

นอกจากนี้ เอฟเอเอ ได้รายงานเพิ่มเติมว่า “พนักงานต้อนรับ 2 คน ได้พยายามควบคุมตัวผู้โดยสารรายนี้ แต่เธอได้ทุบตีพนักงานคนหนึ่งที่ศีรษะซ้ำๆ หลังจากที่ผู้โดยสารถูกคุมตัวด้วยกุญแจมือพลาสติก เธอได้ถ่มน้ำลายใส่ เอาศรีษะกระแทก กัด และพยายามถีบลูกเรือและผู้โดยสารคนอื่น”

นอกจากนี้ เอฟเอเอยังเรียกปรับเงิน 77,272 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้าน 6 แสนบาท) ต่อผู้โดยสารสายการบินเดลตา แอร์ไลน์ส จากเมืองลาสเวกัส ไปยังเมืองแอตแลนตา เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว เนื่องจาก “ผู้โดยสารพยายามกอด และจูบผู้โดยสารที่นั่งข้างๆเธอ เดินไปด้านหน้าเครื่องบินเพื่อพยายามออกจากเที่ยวบิน ปฏิเสธการกลับไปยังที่นั่งตัวเอง และกัดผู้โดยสารอีกคนหนึ่งหลายครั้ง”

รายงานของเดลตา แอร์ไลน์ส ระบุว่า “สายการบินจะไม่อดทนต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสนามบินและเที่ยวบินของพวกเรา เนื่องจากไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าความปลอดภัยของลูกค้าและคนของเรา”

เอฟเอเอ ประกาศนโยบายความอดทนเป็นศูนย์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดการโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ยังคงเพิ่มขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน ได้ออกคำสั่งให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย ทั้งบนเครื่องบินและในสนามบิน เนื่องด้วยวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในเดือน ก.พ. 2564

อย่างไรก็ตาม เอฟเอเอ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการปรับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทั้ง 2 เหตุการณ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้โดยสารที่ปฏิเสธการสวมหน้ากากอนามัย

นายพีท บุตติเจิจ รมว.คมนาคมสหรัฐ บอกผ่านรายการ เดอะ วิว ของเอบีซี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า คำสั่งของกระทรวง ที่ว่าด้วยการสวมหน้ากากอนามัยบนเครื่องบินและในการขนส่งสาธารณะ จะสิ้นสุดหรือต่ออายุในวันที่ 18 เม.ย.นี้

“เราทุกคนต่างต้องการให้มีข้อจำกัดที่น้อยลง เราแค่ต้องการให้ไปถึงในจุดที่ปลอดภัยที่จะทำเช่นนั้น” บุตติเจิจ กล่าว “การเดินทางทางอากาศนั้นแตกต่างเล็กน้อยจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ แต่เราก็ยินดีที่จะไปให้ถึงตรงนั้น”

“สายการบินต่างๆ และสมาชิกพรรคริพับลิกันในสภาคองเกรส กำลังกดดันทำเนียบขาวให้ยุติมาตรการสวมหน้ากากอนามัย และสมาชิกสภาบางคนได้ยื่นหนังสือฉบับใหม่ไปยังไบเดน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้ว

รายงานของเอฟเอเอระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 มีรายงานเหตุการณ์ผู้โดยสารปฏิบัติตัวผิดกฎระเบียบที่ถูกบันทึกไว้ 7,060 รายการ ซึ่ง 70% เกี่ยวข้องกับกฎการสวมหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม อัตรานั้นได้ลดลง 60% นับตั้งแต่เคยทำสถิติสูงสุด เมื่อปี 2564

นอกจากนี้ เอฟเอเอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือน ก.พ. ทางองค์การได้ส่งตัวผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม 80 คน ให้กับสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และอาจมีการเตรียมดำเนินคดีอาญาต่อไป

บุตติเจิจ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและสภาคองเกรส กำลังพิจารณาขึ้นบัญชีห้ามบิน สำหรับผู้โดยสารที่ทำผิดกฎ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES