วันที่ 10 เม.ย. พล.อ.ต.กมล ผิวดำ ประธานกรรมการบริษัทไทยแอร์โรนอติคอล เซ็นเตอร์ (Thai Aeronautical Center หรือ TAC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทไทยแอร์โรนอติคอลฯ ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท เอวิเอชั่น เมนเทนแนนซ์ เอ็กซ์เพิร์ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (Aviation Maintenance Expert Enterprise หรือ AMEE) บริษัทใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน โดยมี น.ส.ภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ ประธานกรรมการบริษัท สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้เติบโตอย่างครบวงจร ทั้งเรื่องของการฝึกบิน การขนส่ง และการซ่อมบำรุง ปัจจุบัน TAC มีโรงเรียนการบิน เปิดให้บริการด้านการฝึกบินภายใต้ชื่อ TAC Flying Academy เป็นสถาบันการบินเอกชนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และมุ่งเน้นผลิตนักบินพาณิชย์ ด้วยหลักสูตรที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลขององค์การบินระหว่างประเทศ (ICAO)

พล.อ.ต.กมล กล่าวอีกว่า TAC ยังได้สร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ทำการซ่อมบำรุงอากาศยานของโรงเรียนในเบื้องต้น และให้บริการกับอากาศยานภายนอกควบคู่ไปพร้อมกัน โดยขั้นตอนการทำงานทั้ง 2 รูปแบบอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลมาตรฐานการดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อให้มีความปลอดภัยในมาตรการการเดินอากาศระดับสากล อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการบิน ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ธุรกิจด้านการบินมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เพราะมีปัจจัยหนุนจาก เศรษฐกิจและการค้าทยอยฟื้นตัว สายการบินเริ่มปรับตัวออกมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านการป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น เกิดการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพิ่มขึ้น

“บริษัทผู้สร้างเครื่องบินขนาดใหญ่ประกาศว่า มีคำสั่งซื้อเครื่องบินในปี 2564-2569 มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก คาดว่าธุรกิจการบินจะค่อย ๆ ขยายตัวและภายในปี 2575 ในทุก ๆ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง” พล.อ.ต.กมล กล่าว

ด้านน.ส.ภิญญ์ชยุตม์  อัครกุลศานต์ ประธานกรรมการ บริษัท AMEE กล่าวว่า บริษัท AMEE แม้จะถือว่าเป็นน้องใหม่ของวงการอุตสาหกรรมการบิน มีอายุเพียง 3 ปี แต่บุคลากรของบริษัทเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและมากไปด้วยประสบการณ์ในธุรกิจการบิน และการร่วมทุนกับ  TAC  ในครั้งนี้เพราะเห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจการบินของไทยให้ก้าวสู่แถวหน้าภูมิภาคซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันกับบริษัท AMEE จึงได้มาขยายความร่วมมือด้านธุรกิจการบินในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังเห็นว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมการบินจะอยู่ในสภาวะวิกฤตินับแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมอื่นของโลก แต่ในท่ามกลางวิกฤตินี้  กิจกรรมการบินนับเป็นกลุ่มธุรกิจแรกที่เริ่มฟื้นตัว ดังจะเห็นได้จาก การขนส่งด้วยอากาศยาน ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานอากาศ (Air bridge) เชื่อมส่งความช่วยเหลือของประเทศต่างๆเข้าหากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ