เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ในวันนี้ (26 ก.ค.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รายงานสถานการณ์การระบาดในกรุงเทพฯ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ป่วยที่ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากผลเป็นบวก ขอให้ติดต่อโรงพยาบาลที่ทำการตรวจเพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วยในบ้าน (Home Isolation) หรือการแยกกักที่ชุมชน (Community Isolation) แม้ยอมรับว่าระบบนี้อาจมีปัญหาบ้าง แต่เราพยายามปรับปรุง นอกจากนี้ กทม.ได้รายงานการลงพื้นที่ของชุดเคลื่อนเร็วแบบเบ็ดเสร็จ (ซีซีอาร์ที) 155 ทีม ตั้งแต่วันที่ 15-25 ก.ค.2564 ได้ลงพื้นที่รวมแล้ว 1,374 ชุมชน มียอดสะสมผู้รับบริการ จำนวน 63,092 ราย ซึ่งเฉพาะวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ 57 ชุมชน มีผู้รับบริการ จำนวน 5,325 ราย ตรวจด้วยชุดเอทีเค 896 ราย ซึ่งพบติดเชื้อ 132 ราย ให้กักตัวที่บ้าน 123 ราย ให้อยู่ศูนย์พักคอย 1 ราย ส่งโรงพยาบาล 3 ราย และมีผู้ที่รับการฉีดวัคซีนโควิด เฉพาะวันที่ 25 ก.ค. จำนวน 3,897 ราย ซึ่งแบ่งเป็นผู้สูงอายุ 1,982 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 1,903 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 12 ราย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า กรณีที่ประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด-19 เองด้วยการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) นั้น กรมการแพทย์รายงานว่ามีส่วนหนึ่งไปตรวจตามแล็บเอกชน และอีกส่วนไปซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจเอง เมื่อพบว่ามีผลบวก และยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา จึงถือเป็นข้อจำกัด ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งหาข้อสรุป โดยในที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้หารือถึงประเด็นที่ว่าแม้ตามหลักการของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้ที่ตรวจด้วย ATK แล้วพบเชื้อหลังจากต้องไปตรวจหาเชื้อ RT-PCR ซ้ำอีก ก่อนจะเข้ารักษาตามระบบ เพราะชุดตรวจดังกล่าวอาจเกิดผลลวงได้ แต่ตอนนี้ ประชาชนไม่สามารถหาที่ตรวจด้วย RT-PCR ได้ หรือต้องรอผลการตรวจนาน ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นในเบื้องต้นว่าให้รับผู้ที่ตรวจด้วย ATK แล้วพบเชื้อ ได้เข้าระบบกักตัวในชุมชนก่อน แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องที่ควรจะยกเลิกการตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยวิธี RT-PCR หรือไม่ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขยังมีความห่วงใย จึงขอให้รอฟังผลการประชุมก่อน.