เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ให้ความสำคัญในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเองได้ มีความเป็นเจ้าของและบริหารโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข” กรมการพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน โดยใช้หมู่บ้านเป็นฐานของการพัฒนา มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกครัวเรือน และพัฒนาคนให้มีความรู้และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีอาชีพ การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นต้นแบบ เป็นครูพาทำ สร้างรายได้ สร้างเครือข่าย สร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูป และการตลาด สามารถพิสูจน์ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤติโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” พร้อมกันทั่วประเทศตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อน้อมใจถวายความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงมีน้ำพระราชหฤทัย บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อความผาสุกของพสกนิกรชาวไทย ทรงดำเนินการตามพระราโชบาย “สืบสาน รักษา และต่อยอด” แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่พระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระราชวิริยอุตสาหะ โดยมิทรงย่อท้อ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข แก่อาณาประชาราษฎร์ และบ้านเมือง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย ทั้งนี้พระองค์ได้ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง” เพื่อเป็นกำลังใจให้พสกนิกรชาวไทย ได้มีพลังใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ครอบครัวมีความสุขอย่างยั่งยืน และนำไปสู่ประเทศชาติที่มั่นคง
กิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” ได้ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมและยังดำเนินการต่อเนื่องตลอดเดือน ในแปลงพื้นที่ต้นแบบตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และพื้นที่ต้นแบบฯ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง รวมทั้งจุดขยายผลต้นแบบฯ จำนวน 21 แห่ง 4 ภูมิภาค อาทิ
ศูนย์พัฒนาอาชีพซำผักแพรว จังหวัดสระบุรี ศูนย์สารภีท่าช้าง จังหวัดอุบลราชธานี
ศูนย์ฝึกอาชีพบ้านฝั่งแดง จังหวัดสกลนคร ศูนย์สารภีขัวมุง จังหวัดเชียงใหม่
ชุมชนต้นน้ำน่าน จังหวัดน่านชุมชนบ้านพะกอยวา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ศูนย์พัฒนาอาชีพหนองบัว จังหวัดกาญจนบุรี ศูนย์สารภีระงู จังหวัดสตูล และ ที่วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
รวมทั้งในพื้นที่ที่แต่ละจังหวัดและอำเภอเห็นสมควร โดยกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” ในทั้งส่วนกลางกรมการพัฒนาชุมชน และจังหวัดในส่วนภูมิภาค ได้ดำเนินการแล้วกว่า 147 ครั้ง/แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการตรมข้อกำหนดของศบค. อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และวัดระฆังฯ ได้ตั้ง “โรงครัวปันน้ำใจ ต้านภัยโควิด-19” เพื่อน้อมใจถวายความจงรักภักดี ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ ณ อาคารจอดรถ ชั้น 6 วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1–31 กรกฎาคม 2564 เพื่อประกอบอาหารปรุงสุก วันละ 1,000 กล่อง มอบแก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ในเขตกรุงเทพมหานคร
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” แต่ละจังหวัด ภาคีเครือข่าย พี่น้องประชาชน และจิตอาสา ร่วมแรง ร่วมใจกันเอามื้อสามัคคี ถือเป็นการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง สร้างองค์ความรู้กสิกรรมธรรมชาติ วางแผนทำกิจกรรม แบ่งหน้าที่ แบ่งคน แบ่งงาน ภายใต้แนวคิด “คึกคัก คล่องแคล่ว ครื้นเครง” และลงมือปฏิบัติจริง ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การห่มดิน การจัดการน้ำ การปั้นคันนา การทำแซนด์วิซปลา การบำรุงดิน การปลูกดอกไม้ล่อแมลง การปลูกหญ้าแฝก การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไม้ 5 ระดับ (สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน กินหัว) จบกิจกรรมด้วยการท่องคาถา “เลี้ยงดิน ให้ดิน เลี้ยงพืช” และการเก็บอุปกรณ์ เมื่อเสร็จจากกิจกรรมลงมือปฏิบัติ ก็รับประทานอาหารร่วมกันโดยแต่ละคนหิ้วปิ่นโตอาหารมาจากบ้าน ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทำเกษตรมาแบ่งปันกัน และในระหว่างการรับประทานอาหารก็จะมีการแบ่งปันความรู้สึกดี ๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้ทำจริง อีกทั้งเป็นการปลูกฝังหลักความรู้คู่คุณธรรม ตามวิถีแห่งหลักปรัซญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการร่วมแรงร่วมใจ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เสียสละ มีความเพียร ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างสรรค์บรรยากาศที่ดีในการทำงานแบบพี่แบบน้อง สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการทำงานที่ได้หลัก 3 อย่าง คือ ทำงานได้งาน ทำงานได้เพื่อน ทำงานได้พัฒนาตนเอง
ติดตามลิงก์ข่าวข้อมูลประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน เฉลิมพระเกียรติฯ ผ่าน Gnews ที่
WlM/htmlview