นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า บรรยากาศสงกรานต์ปี 65 ไม่คึกคักถึง 64% เนื่องจากกังวลเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้า ราคาน้ำมันแพงขึ้น ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและส่วนหนึ่งมีหนี้สินเพิ่ม ทำให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนใช้จ่ายลดลง 45.1% ส่งผลให้เงินสะพัดช่วงเทศกาลส่งกรานต์ปีนี้อยู่ที่ 106,772 ล้านบาท ลดลง 5.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 21.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 62 ซึ่งเป็นปีปกติก่อนที่จะมีปัญหาของโควิด-19 เป็นเม็ดเงินต่ำสุดในรอบ 10 นับตั้งแต่ปี 56

“สงกรานต์ปีนี้ค่อนข้างที่จะซึม และยังไม่ชัดเจนว่า จะเล่นสงกรานต์อย่างไร เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลด้วย โดยการวางแผนทำกิจกรรมท่องเที่ยวสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนส่วนใหญ่จะเล่นอยู่ในพื้นที่จังหวัดของตนเอง งดการเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดไกลๆ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีการปรับราคาค่อนข้างสูงและความกังวลต่อโควิด-19 ส่งผลต่อข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนเงินที่ใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ 78.3% ใช้เงินเดือนและรายได้”

ส่วนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.5-4% หรือขยายตัวได้ 3.5% แม้หลายหน่วยงานจะมีการประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำก็ตาม โดยมีปัจจัยจาก ประชาชนอยู่กับโอมิครอนได้ ส่งออกไทยขยายตัว 4-5% สงครามค่อยๆคลี่คลายแม้จะมีการสู้รบอยู่บ้าง แต่มองว่าไตรมาส 2 จะดีขึ้น รัฐบาลผ่อนคลายการเข้าประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 5 โดยเริ่มในเดือน มิ.ย.65 จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 45,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ขณะที่สถานการณ์ด้านราคาน้ำมัน หากเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย และขณะนี้สหรัฐมีการประกาศเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันฉุกเฉินออกมาใช้ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงกล้าในการจับจ่ายใช้สอย ในช่วงที่ภาคเอกชนยังคงประคับประคองสถานการณ์ราคาสินค้าและค่าครองชีพ ไม่ได้ปรับราคาสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศและเมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันมีการผ่อนคลายลงเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงได้