สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ว่า พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมของสหรัฐ กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการบริการด้านอาวุธ ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับการที่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์รายใหญ่ที่สุดของโลก ยังคงซื้อหาอุปกรณ์ดังกล่าวจากรัสเซีย ว่า “ไม่ใช่เรื่องที่จะส่งผลดี” ต่อรัฐบาลนิวเดลี และในอนาคตอาจมีการ “แสดงความจำนงอย่างเป็นทางการ” จากสหรัฐ ในการให้อินเดียเปลี่ยนมาทำข้อตกลงกับรัฐบาลวอชิงตันมากขึ้น


พล.อ.ออสติน กล่าวต่อไปว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐมีคุณภาพดีที่สุดในโลก” และฝ่ายที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลวอชิงตันเตรียมยื่นข้อเสนอที่สมประโยชน์ให้แก่รัฐบาลนิวเดลี ซึ่งยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อคำกล่าวของ พล.อ.ออสติน


แม้ในระยะหลังรัฐบาลวอชิงตันประสบความสำเร็จมากขึ้น ในการเจรจาซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์กับอินเดีย แต่จนถึงตอนนี้ สหรัฐยังถือเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่อันดับที่ 3 ของอินเดียเท่านั้น โดยมีส่วนแบ่งตลาดระหว่างปี 2560-2564 อยู่ที่เพียง 12% ขณะที่รัสเซียครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 85%


ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจน ว่าสหรัฐคาดหวังให้อินเดียลดการนำเข้าอาวุธประเภทใดจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 อินเดียตกลงสั่งซื้อระบบป้องกันทางอากาศ “เอส-400” จากรัสเซีย อย่างน้อย 5 ชุด มรมูลค่ารวมมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 167,495 ล้านบาท)


ขณะที่สหรัฐเตือนอินเดียตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า รัฐบาลนิวเดลีเผชิญกับ “ความเสี่ยง” ตามกฎหมาย “ต่อต้านปรปักษ์ของอเมริกาด้วยการคว่ำบาตร” (ซีเอเอทีเอสเอ) ที่สภาคองเกรสบัญญัติขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. 2560 เพื่อ “จัดการ” กับรัสเซียโดยเฉพาะ และจีนเป็นประเทศแรกที่ “ถูกลงโทษ” ตามกฎหมายนี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐขึ้นบัญชีดำสำนักงานพัฒนายุทโธปกรณ์ (อีดีดี) ของกระทรวงกลาโหมจีน เมื่อเดือน ก.ย. 2561 จากการสั่งซื้ออาวุธของรัสเซีย ที่รวมถึงอุปกรณ์เสริมสำหรับระบบเอส-400.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES