นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมีตัวแทนสมาคมที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เป็นต้น รวมถึงสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้หารือถึงประเด็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหา และมีความเห็นว่าควรให้ทุกฝ่ายไปหาข้อสรุปร่วมกันก่อน โดยมอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นัดหมายประชุมกับอีก 3 ฝ่าย ให้ครบถ้วนทุกสมาคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องและนำข้อสรุปมาเสนอต่อที่ประชุมนี้ครั้งถัดไปโดยเร็วที่สุด หรือภายในวันที่ 11 เม.ย.65 เนื่องจากต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งวันนี้สมาคมผู้ค้าพืชไร่ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็ส่งผู้แทนเข้ามา
ทั้งนี้ ในประเด็นหลักที่ได้หารือ คือ ทำอย่างไรไม่ให้ปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศขาดแคลน ประเด็นที่สอง ทำอย่างไรไม่ให้ราคาพุ่งสูงขึ้นเกินไป จนเป็นภาระต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคจนเกินสมควร รวมทั้งทำอย่างไรให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ข้าวโพด มันสำปะหลังหรือพืชอื่นไม่ได้รับผลกระทบ จึงต้องสร้างจุดสมดุลให้กับทุกฝ่ายให้อยู่ได้ร่วมกันไม่เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินสมควร
“เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ยากเพราะแต่ละกลุ่มยังมีความเห็นที่ผู้ปลูกพืชไร่อยากให้ข้าวโพดราคาสูงที่สุด ผู้เลี้ยงสัตว์อยากให้ต้นทุนอาหารสัตว์ที่มีข้าวโพดและข้าวสาลีเป็นส่วนผสมต่ำที่สุด ผู้ผลิตอาหารสัตว์ถ้าต้นทุนสูงอยากขึ้นราคาอาหารสัตว์ ผู้บริโภคอยากให้คุมราคาไก่เนื้อ ไข่และหมู ไม่ให้สูงจนเกินไปคือ โจทย์ที่คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้ดำเนินการต่อไป”
นายจุรินทร์กล่าวว่า ความเห็นเบื้องต้นของคณะกรรมการชุดนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเข้ามาดูแลทั้งเรื่องราคาและปริมาณให้สมดุลกัน คือราคาอาหารสัตว์ไม่ให้สูงจนเป็นภาระของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไก่และไข่ และให้มีปริมาณพอใช้ และไม่เป็นภาระกับผู้บริโภคและกระทบกับราคาข้าวโพดในประเทศและพืชไร่อื่น และได้หารือมาตรการว่าจะทำอย่างไร โดยที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมกันของกรมการค้าภายในกับ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง”
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพด ปี 65 เงื่อนไขเช่นเดียวกับปี 64 แต่ปรับปริมาณให้สอดคล้องกับปริมาณที่เป็นจริงคือประมาณ 2 ล้านไร่ กำหนด 2 กลุ่ม เกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.กำหนดเบี้ยประกัน 160 บาทต่อไร่ รัฐบาลจะจ่ายให้ 96 บาท และ ธ.ก.ส.จ่าย 64 บาท รวมเป็น 160 บาทต่อไร่ อีกกลุ่มเป็นเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. แต่สมัครใจประกันภัยข้าวโพด แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งพื้นที่ความเสี่ยงสูงเบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่ ความเสี่ยงปานกลาง 100 บาทต่อไร่ และความเสี่ยงต่ำ 90 บาทต่อไร่ ในส่วนที่รัฐต้องอุดหนุนคิดเป็นงบประมาณ 224 ล้านบาท จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป