เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพฯ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โดย น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 11 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรค พร้อมด้วย น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสายไหม หมายเลข 4 และนายวิกรม ธรรมวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางเขน หมายเลข 4 จัดเสวนาเปิดนโยบายสภาชุมชน โดยมีผู้นำชุมชน และประชาชนจากเขตบางเขนและเขตสายไหม ให้ความสนใจร่วมหารือกันเป็นจำนวนมาก

น.ต.ศิธา กล่าวว่าตนจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรกที่จะกระจายอำนาจการจัดการงบประมาณ กทม.ให้กับคนกรุงเทพฯ ผ่านสภาชุมชน โดยการออกเป็นระเบียบ กทม. เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านสภาชุมชน และปลดปล่อยประชาชนจากพันธนาการรัฐราชการอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตยทางตรง ที่ชุมชนสามารถร่วมจัดงบประมาณของ กทม. เพื่อไปแก้ไขปัญหาในหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเองได้ จัดการตัวเองได้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดตามความต้องการของประชาชน ดังนั้นสภาชุมชนจึงเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่มารวมตัวกัน เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันสร้างทางออก เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเอง ทำงานร่วมกับ กทม. สะท้อนภาพประชาชนคือหุ้นส่วนในการบริหารจัดการกรุงเทพฯ

รวมทั้งสามารถติดตามการบริหารงานต่างๆ โดย กทม.ต้องจัดสรรงบประมาณให้แต่ละชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตรวจสอบงบประมาณ ผ่านระบบบล็อกเชน Decentralized Autonomous Organization (D.A.O) ที่จะเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับผู้ว่าฯ กทม.รับรู้ปัญหาได้โดยตรงจากชุมชน สามารถหาแนวทางและแก้ไขได้ทันที ให้ประชาชนมีอำนาจในการแสดงความคิดเห็นและโหวตให้กับโครงการต่างๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน ตลอดจนการตั้งงบประมาณตอบแทนให้กับคณะกรรมการสภาชุมชน

“เดิมการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ เป็นการใช้กรรไกรข้างเดียวในการจัดการปัญหา อาจเปรียบมีดอีโต้ในการฟันปัญหาต่างๆ เวลาจะออกนโยบายก็ใช้ค้อนทุบให้ชาวบ้านไปปฏิบัติตาม แต่สำหรับแนวคิดสภาชุมชน เราต้องการให้เป็นกรรไกรที่มีความคมทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อสามารถจัดการปัญหาได้ ซึ่งนโยบายสภาชุมชน จะมี 2 ระดับคือแนวราบ และแนวดิ่ง คือแนวราบนโยบายจะมาจากประชาชนผ่านการรวมตัวกัน เป็นสภาชุมชน และแนวดิ่งมาจาก Comunity Online เพื่อให้จิตอาสาที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา”

น.ต.ศิธา กล่าวด้วยว่า ระบบ D.A.O มีการบันทึกทุกรายละเอียดข้อเสนอ และข้อร้องเรียนต่างๆ จะถูกบันทึกและจัดเก็บในห่วงโซ่บล็อกเชน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและรับประกันความปลอดภัยข้อมูล ด้วยวิทยาการเข้ารหัสลับประชาชนจะใช้แอพมือถือ เพื่อตรวจสอบ ติดตาม และประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ เพราะข้าราชการมีหน้าที่ดูแลประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถประเมินโดยการให้คะแนนมีผลต่อการเลื่อน-ลด-ปลด-ย้าย ทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาเอาใจผู้ว่าฯ กทม. หรือ ผอ.เขต แต่ต้องเอาใจประชาชนแทน ทั้งนี้ระบบ D.A.O จะทำให้ประชาชนสามารถสื่อสารกับผู้ว่าฯ กทม.ได้โดยตรง ทั้งการติดตามงาน และตรวจสอบได้ตลอดเวลา.