สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ว่า สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ ซึ่งลงทุนโดยจีน จะมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชา เมื่อเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2566


รายงานระบุว่า สมเด็จฮุน เซน ได้เดินทางเยือนพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานดังกล่าว ในเขตโสตนิคุม ซึ่งอยู่ห่างจากอุทยานโบราณคดีอังกอร์ หรือนครวัด ประมาณ 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเสียมราฐ 50 กิโลเมตร


“เราโชคดีที่มีเพื่อนดีอย่างจีน และโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานของความร่วมมือระหว่างกัมพูชากับจีน” สมเด็จฮุน เซน กล่าว “ท่าอากาศยานขนาดใหญ่แห่งนี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนเหนือของประเทศ ครอบคลุมจังหวัดเสียมราฐ อุดรมีชัย กำปงธม และพระวิหาร”


สมเด็จฮุน เซน อธิบายว่า โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่มีเป้าหมาย รองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเดินทางเยือนนครวัด ช่วงหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 โดยระยะแรกจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7 ล้านคนต่อปี


อนึ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,300 ไร่ ลงทุนโดยบริษัท อังกอร์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์พอร์ต อินเวสต์เมนต์ (กัมพูชา) จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท อวิ๋นหนาน อินเวสต์เมนต์ โฮลดิงส์ จำกัด ของจีน


ผู้นำกัมพูชา กล่าวต่อไปว่า ท่าอากาศยานได้รับการพัฒนา ภายใต้สิทธิสัมปทานแบบที่เอกชนเป็นผู้สร้าง ดำเนินงาน ก่อนถูกส่งมอบให้รัฐเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทาน (บีโอที) เป็นระยะเวลา 55 ปี ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และดำเนินธุรกิจอีก 50 ปี โดยโครงการนี้เริ่มต้นก่อสร้าง เมื่อเดือน มี.ค. 2563 และช่วยสร้างงานราว 1,900 อัตรา


ด้าน นายเต็กเรธ สัมราช เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยการสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเสร็จแล้วร้อยละ 19 ส่วนการก่อสร้างรันเวย์มีกำหนดแล้วเสร็จ ในเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ รวมถึง อาคารสำนักงานและหอพัก หอควบคุมการจราจรทางอากาศ คลังสินค้า สถานีน้ำมันและท่อส่งน้ำมัน และลานจอดรถ มีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้


สำหรับโครงการทั้งหมด จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มี.ค. 2566 ก่อนเปิดใช้งานในเดือน ต.ค.ปีเดียวกัน หลังจากผ่านกระบวนการยื่นขอใบรับรองความปลอดภัย และความมั่นคง รวมถึงทดสอบระบบสนามบินทั้งหมด


อนึ่ง อุทยานโบราณคดีอังกอร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของกัมพูชา โดยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.2 ล้านคน เมื่อปี 2562 และสร้างรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมเฉพาะในปีนั้น 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 พันล้านบาท).

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA