เมื่อวันที่ 4 เม.ย.65 สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท” สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย 2565 เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัย ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ รร.แกรนด์ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเต็ล อ.เมือง จ.นนทบุรี

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 เกิดอุบัติเหตุ 2,365 ครั้ง บาดเจ็บ 2,357 คน เสียชีวิต 277 ราย ช่วงวันที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ วันที่ 12-13 และ 14 เมษายน เป็นวันที่มีการดื่มฉลองอย่างหนัก พบผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 69 ราย 43 ราย และ 40 ราย ตามลำดับ นอกจากนี้สาเหตุหลักการเสียชีวิต ได้แก่ ขับรถเร็ว 48.93 ดื่มแล้วขับ 21.29 ตัดหน้ากระชั้นชิด 16.74

“สงกรานต์ปีนี้ สสส.ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” ผลิตสื่อสปอตและคลิปวิดีโอ สื่อสารผ่านสื่อหลักและออนไลน์และ เพื่อชวนคนไทยตั้งสติ ลดพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่มแล้วขับ” ที่แอลกอฮอล์ในเลือด150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุถึง 40 เท่า, “ขับรถเร็ว” หากเกิดการชนที่ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง = ตกตึก 5 ชั้น, “สวมหมวกนิรภัย” ลดการเสียชีวิตได้ถึง 39% และ “คาดเข็มขัด” ช่วยลดการบาดเจ็บทั่วไปถึง 50% เพื่อให้กลับไปถึงบ้าน กลับไปหาคนที่รักอย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้ยังรณรงค์เที่ยวสงกรานต์วิถีใหม่ ปลอดเหล้า ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การดำเนินงานในช่วงสงกรานต์ สคอ.มีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นเน้น ควบคุมขับเร็ว ดื่มแล้วขับ การจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นดูแลพิเศษห้ามขายให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นอกจากนี้จุดตรวจ-จุดบริการ เสนอปรับเป็นหน่วยลาดตระเวน-เฝ้าระวังงานเลี้ยงสังสรรค์ สกัดคนดื่มแล้วขับ เตือนลดความเร็ว เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางโดยเฉพาะคนขับ ควรงดดื่มก่อนการเดินทางอย่างน้อย 3 วัน พักผ่อนให้เต็มที่

นายวิทยา จันทร์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ได้กำหนดตัวชี้วัด 3 ระดับคือ ระดับภาพรวม เช่นจำนวนผู้เสียชีวิตในพฤติกรรมเสี่ยงหลักได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ลดลงไม่น้อยกว่า 5% ในระดับหน่วยงาน จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บที่เกิดบนถนน อปท. จำนวนรถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิต รวมทั้งจำนวนเด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีจากการดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ ลดลงไม่น้อยกว่า 5%

และระดับพื้นที่ อำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง 24 อำเภอ สีส้ม 115 อำเภอ สีเหลือง 378 อำเภอ และสีเขียว 411อำเภอ จำนวนผู้เสียชีวิตในอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง และจำนวนผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุของจังหวัด ลดลงไม่น้อยกว่า 5 % เน้นย้ำจำนวนผู้ขับขี่ที่ถูกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วทำให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต