เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ อาคารบี ไทยพีบีเอส น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเสริมทัพนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามอิสระ หมายเลข 8 เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ภายใต้สโลแกน “ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” กล่าวบนเวทีเสวนา “ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” 

โดย น.ส.เกษรา กล่าวว่า ภายหลังจากฟังตัวแทนจากภาคต่างๆ บนเวทีแล้ว รู้สึกมีความหวังที่เรามีภาคประชาชนที่มีจิตใจพร้อมให้ความช่วยเหลือเด็กในชุมชน หากมีคนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูจากภาคประชาชนแบบนี้อยู่ในทุกชุมชนใน กทม. ก็มีความหวังในการแก้ไขปัญหา เพราะตนมองว่าความเป็นครูสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ขอเพียงเรามีงบประมาณที่พอเพียง มีภาค กทม.ที่พยามยามจะเข้าใจ และให้ความร่วมมือ โดยไม่ต้องมีเอกสาร หรือ KPI มากมาย เท่านี้ก็เพียงพอที่จะลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้แล้ว


น.ส.เกษรา กล่าวว่า ฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาถึง 20 ปี ให้ความเห็นว่า เวลาเราพูดถึงการศึกษา มักจะแปลงร่างกลับมาเป็นเรื่องของโรงเรียน แต่เมื่อฟังบนเวที หรือเราไปลงพื้นที่จริงๆ การพูดถึงการศึกษาของชุมชนแออัด หรือคนรากหญ้าแล้ว เรื่องการศึกษาไม่เคยจะเกี่ยวข้องกับโรงเรียนอย่างเดียว ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาลดการเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ ทีมชูนโยบายต้องแก้พร้อมกัน 3 อย่าง ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน สำหรับเรื่องที่ 1 เรื่องครอบครัว มองว่าความยากจนเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการต้องลาออกเพื่อมาเลี้ยงลูก หรือออกจากงานเพื่อมาดูแลคนแก่ติดเตียง จะยิ่งทำให้เกิดปัญหา วิธีแก้คือ เราต้องมีศูนย์เนอร์สเซอรี่ที่ดี เป็นศูนย์เด็กแรกเกิด และทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อทำให้เมืองมีต้นทุนที่น้อยลง ครอบครัวมีกำลังออกไปทำงานมากขึ้น ฟังดูอาจรู้สึกว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจมากกว่า แต่จริงๆ แล้วมันเกี่ยวกันเสมอสำหรับคนยากไร้ 

น.ส.เกษรา กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 ชุมชน ชุมชนคือสิ่งแวดล้อม คือโลกของเด็ก เราต้องมีสถานที่สำหรับเล่นกีฬา ทำกิจกรรมไม่ต้องไปอยู่ในที่เล็กๆ หรือเจอแต่สังคมเดิมๆ และเรื่องที่ 3 คือ โรงเรียน ที่ไม่ควรมีจุดหมายแค่จุดเดียว คือ การเอนทรานซ์ เราไม่ปฏิเสธว่าเด็กจะมีอาชีพที่ดีเชิดหน้าชูตาต้องจบมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมสังคมเรา แต่เราต้องมีทางออกอื่นให้คนที่หล่นไปจากระบบด้วย ดังนั้นหลักสูตรในโรงเรียนต้องยืดหยุ่น พร้อมกันนั้นก็สร้างค่านิยมให้พ่อแม่ หรือ เด็ก ไม่รู้สึกอับอายที่ไม่จบ ม.6 หรือ มหาวิทยาลัย เราไม่ได้ต้องการปริญญาตรีเท่านั้น เราต้องการประชากรในกรุงเทพฯ ที่มีอาชีพที่ตนเองคิดว่าสามารถทำงานเลี้ยงครอบครัวได้ และมีความสุขกับการทำงาน ดังนั้นสิ่งที่เราควรต้องแก้ คือ สร้างทางเลือก.