น.ส.ราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการโอไรออน (Orion) เปิดเผยว่า ปลายปีนี้ พ.ย.-ธ.ค. โออาร์เตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมทุกอย่าง ออล อิน วัน เพื่อตอบโจทย์ทุกกิจกรรม ทุกความต้องการ และช่วยสนับสนุนร้านค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครบวงจร เพื่อให้คนเข้ามาใช้บริการโออาร์มากขึ้น จากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการสถานีบริการพีทีที สเตชั่นวันละ 2.5 ล้านราย แต่แอพนี้ จะไม่ใช่แค่เพิ่มผู้ใช้บริการในพื้นที่ปั๊มเท่านั้น ยังเพิ่มในส่วนของออนไลน์มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ร้านค้าต่างๆ ดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีระบบต่างๆ ช่วยให้ลดต้นทุนได้ และที่สำคัญผู้บริโภคต้องมีความสุขได้รับบริการที่หาที่อื่นไม่ได้ และในอนาคตแอพพลิเคชั่นนี้ ยังเปิดกว้างการเชื่อมโยงกับพันธมิตรอื่นๆ บนโลกออนไลน์ที่หลากหลายบริการมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้การดำเนินการแอพดังกล่าว จะแบ่งเป็น 4 ระยะ ทุกระยะตั้งเป้าเพิ่มร้านค้า และผู้ใช้บริการ เพิ่มขึ้น 2 เท่า ระยะแรกเดือน พ.ย.-ธ.ค. 65 ตั้งเป้าหมายร้านค้าจะมาร่วมในแอพหลักหมื่นแห่ง มีสมาชิกใช้บริการ 5 แสนราย จะเน้นการทำวอลเล็ต ออกคูปองต่างๆ จะหาโปรโมชั่นที่หาที่ไหนไม่ได้ ระยะ 2 ปี 66 เน้นการใช้งานจองล่วงหน้าบุคกิ้งบริการต่างๆ ระยะ 3 ปี 67-68 เช่น การซ่อมรถ ฟิท ออโต้ ระยะ 4 ปี 69-70 ทำอีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ โดยงบประมาณที่ใช้จะอยู่ในแผน 5 ปี (65-69) ของโออาร์ ที่มีวงเงินประมาณ 93,000 ล้านบาท

“แอพที่เราจะทำ ต้องตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของคน และทำให้ร้านค้าต่างๆ ดีขึ้น ต้องใช้ตั้งแต่ตื่นขึ้น จนหลับก็ยังฝันถึงแอพของเรา เช่น ตื่นมาก็สามารถจองอเมซอนได้ จองซ่อมรถฟิทออโต้ จะไปเที่ยว ก็สามารถเปิดดูรีวิว จองบริการต่างๆ ได้ทั้งหมด เราจะร่วมกับพันธมิตรต่างๆ”  

สำหรับภารกิจใหญ่ของโอไรออน ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจของโออาร์ ทำหน้าที่ตามล่าหาธุรกิจนิว-เอสเคิร์พ  ให้กับโออาร์ ที่ไม่ได้เน้นการลงทุนในลักษณะของเวนเจอร์ แคปปิตอล ที่เป็นสตาร์ทอัพอย่างเดียว แต่จะอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “Empowering All Toward Inclusive Growth” ที่เป็นการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยสายงานที่อยู่ภายใต้การดูแลถูกจัดวางโครงสร้างงานออกเป็น 7 ส่วนสำคัญ คือ 1. โมบิลิตี้  การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ ทำอะไรก็ตาม ที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อน ที่ไม่ใช่แค่น้ำมัน แต่อาจจะเป็นพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น ไฟฟ้า ไฮโดรเจน ธุรกิจให้บริการการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

2. ท่องเที่ยว เน้นพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และสินทรัพย์ที่เชื่อมต่อธุรกิจออฟไลน์และออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ เจาะไปที่ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีของดี วิวสวย แต่อาจจะไม่มีประสบการณ์ในการ ทำทัวร์ ก็จะเข้าไปหากลไกพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริงและอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยที่ OR จะมีระบบสนับสนุน เช่น การสร้างคอนเทนต์ แพลตฟอร์มขึ้นมาเชื่อมโยงคนท่องเที่ยวกับชุมชน 3. อาหารและเครื่องดื่ม  (F&B) เน้นพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มศักยภาพการดำเนินการธุรกิจร้านอาหาร และแพลตฟอร์มดิจิทัลบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหาร โดยเป้าหมาย จะเป็นไลฟ์สไตล์ หรือ โซลูชั่นครบวงจรสำหรับทุกไลฟ์สไตล์

“เรื่อง F&B ไม่ใช่แค่การมองหาแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา แต่จะดูไปถึงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของแตะละธุรกิจ ว่ามีส่วนไหนที่โออาร์ สามารถเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เช่น ต้นน้ำก็เรื่องการจัดหาวัตถุดิบ แหล่งที่มา ราคา เป็นต้น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดการลดต้นทุน กลางน้ำเราก็มีร้านอาหารแล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มประสิทธิภาพได้คืออะไร เช่น ระบบการจองร้านอาหาร โปรโมชั่นดึงดูดลูกค้านอกเวลาพีค หรือ สิ่งของเหลือที่เกิดจากการบริโภคจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรเพื่อลดอาหารที่ต้องทิ้ง เป็นการมองทั้งระบบนิเวศน์ของธุรกิจอาหาร”

4. เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เน้นพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านเวลเนส และการเชื่อมต่อการให้บริการผ่านรูปแบบออมนิ ชาแนล หรือการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทาง ที่จะเข้ามาทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น เข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขได้สะดวก เพราะสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น บางแห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หากมีการจัดตั้งหาสถานบริการด้านสาธารณสุข ก็จะช่วยลดการเดินทาง โดยจะมองหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน และจะต้องศึกษาเรื่องของกฎหมายให้เกิดความชัดเจน และเอื้อต่อการจัดทำธุรกิจ

5. การสร้างพลังให้กับเอสเอ็มอี เน้นพัฒนาธุรกิจที่แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง คิดค้นระบบอื่นๆ ที่ช่วยร้านค้าต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงของเสีย จะบริหารจัดการอย่างไร เช่น ระบบการขายหน้าร้าน เมนูไหนขายดี เพื่อให้มาวิเคราะห์ตัวเอง ปรับปรุง เสริมโปรโมชั่น ควรออกแบบไหน ระบบการสัมพันธ์กับลูกค้า ร้านใหญ่ๆ จะมี ร้านเล็ก ให้มาลงทุนเอง คงไม่ไหว เป้าหมายโออาร์ ต้องให้ร้านค้าโตได้จริงๆ ไม่ได้เอาเงินไปหว่านอย่างเดียว เพราะสุดท้ายผู้ประกอบการต้องเดินหน้าด้วยตัวเขาเอง

6. ออล อิน วัน แอพ เชื่อมต่อการขายสินค้าและบริการจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ โดยแอพพลิเคชั่นนี้ จะทำให้คนใช้ชีวิตได้สนุกมากขึ้น ทั้งการหาข้อมูล ความสวยความงาม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร การจอง การจำหน่ายสินค้าและบริการ คาดว่า ช่วงปลายปีนี้ จะสามารถเปิดตัวแอพพลิเคชั่นได้ ซึ่งจะเป็นการทยอยเปิดให้บริการในบางส่วนธุรกิจ

7. เวนเจอร์ แคปปิตอล สนับสนุนงานการลงทุนในสตาร์ทอัพและกองทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัจจุบัน เข้าไปลงทุนแล้ว 2 ธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่ทำให้เข้าถึงสตาร์ทอัพที่เป็นคนตัวเล็กได้สะดวกมากขึ้น