เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ มีการจัดเทศกาล “หมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง” ครั้งที่ 1 ตอน “ชอบจึงหมัก รักจึงปลูก” ซึ่งภายในงานมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 8 และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 4 ร่วมเวทีพูดคุยถึงปัญหาขยะในกรุงเทพฯและการหมุนเวียน การลดขยะจากอาหาร แนวคิดกรุงเทพฯ 15 นาที ความมั่นคงทางด้านอาหารของเมือง

นายชัชชาติ กล่าวว่าการแยกขยะและการใช้เศษผักมาทำเป็นปุ๋ยหมัก เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดค่าจัดเก็บและค่ากำจัดขยะได้ ขณะเดียวกันการทำเกษตรอินทรีย์จะเป็นการสร้างแหล่งอาหารของตนเองซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้มองว่ากิจกรรมการแยกขยะมีผลต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน จากงบประมาณของกทม.ประจำปี 80,000 กว่าล้านบาท แบ่งเป็นค่าเก็บขนและกำจัดขยะ 11,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณด้านการศึกษาของเด็กนักเรียน กทม.ได้รับจัดสรรประมาณ 4,000 ล้านบาท หากเราสามารถบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้นโดยนำขยะมาใช้ประโยชน์ลดค่ากำจัดลงจาก 11,000 ล้าน เหลือ 8,000ล้าน เราจะมีเงินเหลือเพิ่ม 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนได้

นอกจากนี้พื้นที่กรุงเทพฯ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลทำให้โลกร้อนปีละ 43 ล้านตัน โดยร้อยละ 29 เกิดจากการขนส่ง ร้อยละ 61 มาจากการใช้พลังาน ร้อยละ 10 มาจากขยะที่ฝั่งกลบแล้วเกิดเป็นก๊าซมีเทน ในส่วนนี้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซได้ร้อยละ 1 จากการปลูกต้นไม้ ขณะเดียวกันกิจกรรมที่เครือข่ายทำอยู่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทุกมิติ ทั้งเรื่องแปลงปลูกผักในเมือง แปลงปลูกผักเกษตรอินทรีย์บนดาดฟ้า ซึ่งช่วยลดพลังงานด้านการขนส่งจากการสั่งผักจากนอกพื้นที่เข้ามาบริโภคหรือจำหน่าย อีกทั้งการปลูกผักบนหลังคาจะช่วยดูดความร้อนของตึก โดยภาพรวมการมีพื้นที่สีเขียวจะช่วยหักลบปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่าการแยกขยะอย่างจริงจัง จะช่วยลดค่ากำจัดขยะได้ โดยเริ่มจากแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และเริ่มเป็นโซนก่อน เช่นที่เขตปทุมวัน อย่างไรก็ตาม การให้ประชาชนแยกขยะเป็นหนึ่งในนโยบายอยู่แล้ว ซึ่งมีแนวคิดที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับบ้านที่แยกขยะ เช่น ยกเว้นค่าเก็บขนขยะ หรือแจกปุ๋ยอินทรีย์ นอกจากนี้ กทม. ต้องลงทุนในระบบจัดเก็บหรือแยกประเภทรถจัดเก็บขยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแยกขยะก่อนสู่ระบบกำจัด ส่วนแนวคิดกรุงเทพฯ15 นาที ตนมีนโยบายว่า 15 นาทีต้องถึงสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ 15 นาทีถึงแปลงเกษตรอินทรีย์ และ 15ชุมชน 1แปลงเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ ในด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมือง กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพตลาดกลางผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ทั้งระบบอนาล็อคและดิจิตอล โดย กทม. จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรได้นำผลผลิตออกสู่ตลาด รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม.ควรกำหนดให้เอาของที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯก่อน เพื่อช่วยทำให้เกษตรกรมีคุณภาพมากขึ้น

ทางด้านนายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ผู้ว่าฯกทม. มีหน้าที่สำคัญคือบริการประชาชน แต่ทุกวันนี้อย่างที่เราเห็นคือการบริการเรื่องขยะยังไม่ประทับใจ การจัดเก็บขยะของกทม.ยังเข้าไม่ถึงและเก็บไม่ถี่ ยังมีปัญหาการจัดเก็บขยะในพื้นที่แคบ ซอยเล็กการเข้าถึงขยะยังไม่มีประสิทธิภาพ กทม. ต้องปรับวิธีการเข้าถึงการเก็บขยะโดยไม่ใช้เจ้าหน้าที่ชักลากขยะ เพราะบางครั้งการชักลากมีน้ำขยะหกเลอะพื้นถนน หรือขยะตกหล่น ในเมืองที่พัฒนาแล้วเขาใช้รถขนาดเล็กในการจัดเก็บขยะในพื้นที่ซอยแคบ เช่นรถ 3 ล้อ ขนาด 500 กก. หรือรถกระบะเล็กขนาด 1 ตัน ที่ประเทศญี่ปุ่นใช้อยู่ และต้องใช้เป็นรถพลังานสะอาด

ส่วนการขนขยะไปสู่ระบบกำจัดซึ่งอยู่ไกล ปัจจุบันกทม.มีโรงกำจัดขยะมูลฝอย 3 แห่งคือ ที่อ่อนนุช สายไหม และหนองแขม กทม.ต้องเพิ่มจำนวนรถ และกำลังคน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะตกค้าง ขณะเดียวกัน เสนอให้มีการจ้างงานในชุมชนเพื่อช่วยดูแล บริหารจัดการขยะ ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ทำเกษตรอินทรีย์ โดยกทม.จะรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำไปประกอบอาหารให้กับโรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์เด็กเล็ก รวมถึง รพ.กทม. ซึ่งจะเกิดความยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนอีกด้วย

นายสุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า แนวคิด กรุงเทพฯ15 นาที ของตนคือ 15 นาที ต้องเข้าถึงระบบการศึกษา การสาธารณสุขระบบขนส่ง สวนสาธารณะ และต้องเป็น 15 นาทีที่เดินได้อย่างปลอดภัย ทางเท้าต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล