ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคใต้ พร้อมด้วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว ลงพื้นที่สำรวจศักยภาพ ของเกาะพยาม แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ของ จ.ระนอง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมเชิญชวนตลาดนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวไทย ทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ขาดหายไปในช่วงวิกฤติโควิด-19 สองปีที่ผ่านมา

ทันทีที่เดินทางถึงท่าเทียบเรือ อ่าวแม่หม้าย เกาะพยาม ภาพแรกที่เห็น เด่นตะหง่านและสะดุดตา คือ ภาพนกเงือกคู่ เกาะอยู่บนผลมะม่วงหิมพานต์สุก ขนาดใหญ่ หรือที่ชาวระนองเรียกชื่อในท้องถิ่นว่า กาหยู การเดินทางเชื่อมต่อจะมีทั้ง รถตุ๊กๆ สามล้อรับจ้าง, รถจักรยานยนต์ให้เช่ารายวัน รวมทั้งรถไถพ่วงลากเพื่อพากลุ่มนักท่องเที่ยว เที่ยวชมยังอ่าวต่างๆ และสถานที่น่าสนใจ

ด้วยพื้นที่บนเกาะ ทั้งสองข้างทาง จะเป็นพื้นที่ดินปนทราย พืชผลที่ทนแล้งได้ อย่าง มะม่วงหิมพานต์ จึงมีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจเต็มทั่วพื้นที่สวน ที่สามารถทานได้ทั้งผล และเมล็ดที่มีขายกันในท้องตลาด ย้อนหลังประวัติที่มาของผลไม้ชนิดนี้ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือท่านคอซิมบี้ ณ ระนอง อดีตเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้นำพืชพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล จากประเทศโปตุเกส ซึ่งเรียกว่า กาชู ภาษาอังกฤษเรียก แคชชู เข้ามาปลูกครั้งแรกในภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ.2544 เพราะสามารถปลูกได้ในพื้นที่ร้อนชื้น ผลของมะม่วงหิมพานต์ มีคุณค่าทางสารอาหารสูง และช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง ที่มะม่วงหิมพานต์กำลังออกผล น้อยคนนักที่จะเคยกินน้ำมะม่วงหิมพานต์ที่เราสามารถกินสดได้คาต้น รสชาติ หวานแต่มีรสฝาดแจมเล็กน้อย ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินเอ, บี, อี และเกลือแร่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก เนื่องจากปลูกในพื้นที่ติดกับทะเล ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีน้ำกาหยูบรรจุขวดจำหน่ายใน จ.ระนอง

สถานที่ อีกแห่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ ที่ มารัญญอน การ์เด้น วิว ซึ่งเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวมาแวะชม และถ่ายรูปนกเงือก ในช่วงเย็น ก่อนจะกลับเข้ารัง จะมาแวะที่สวนกาหยูกลางเกาะแห่งนี้ นกเงือก สายพันธ์ุนกแก๊ก หรือนกเงือกขนาดเล็ก ที่จะบินหากินไปมาระหว่างฝั่งหรือแนวเกาะ อาหารหลักก็จะเป็นพืชผลไม้สุก หรือลูกไทรสุก และที่สวนกาหยู นกเงือกจะบินมากันเป็นคู่ๆ บินมาเกาะกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ก่อน เมื่อบรรยากาศเป็นมิตร ก็จะโฉบบินลงมากินกล้วยด้วยความเอร็ดอร่อย ทานกล้วยสุกที่ผู้ประกอบการที่พัก วางตั้งไว้ให้ ช่วงเวลา 17.00-18.30 น. พอใกล้มืดก็จะบินกลับรังป่าในละแวก

น.ส.ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผอ.ภูมิภาค ภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อีกหนึ่งไฮไลต์ของเกาะพยาม นกเงือกเป็นนกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเกาะพยามเป็นพื้นที่ที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ นกเงือกเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของรักแท้ เพราะนกเงือกจะมีคู่รัก คู่ตัวเดิมตลอดชีวิต โดยไม่หาคู่ตัวใหม่ เพราะเป็นนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียว ความน่าสนใจของนกเงือกตรงจุดนี้ จึงได้ถูกหยิบยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้อันบริสุทธิ์ ชั่วนิรันดร์ และเชื่อว่าคู่รัก คู่ใดที่มาเที่ยวและมาดูนกเงือก เชื่อว่าคู่นั้นก็จะมีความรักที่เป็นรักนิรันดร์ รักเดียวใจเดียว เช่นนกเงือกเกาะพยาม

ขณะที่ที่อ่าวเขาควาย ซึ่งชายหาดที่ทรายละเอียด มีหินทะลุ โขดหินที่เป็นรูปหัวใจคว่ำ จุดเช็กอินยอดฮิต และถ่ายภาพ สำหรับนักท่องเที่ยว โดยมีความเชื่อกันว่า หินทะลุ ที่เป็นรูปหัวใจที่คว่ำกับด้านลง ถ้าใครที่ได้มาเดินทะลุหินหัวใจนี้แล้ว ก็เชื่อกันว่าน่าจะกลับตัวกลับใจ แล้วกลับมาเป็นคนรักเดียวใจเดียว เป็นคนดีเหมือนเดิม

น.ส.ภัทรอนงค์ กล่าวว่า เกาะพยาม เป็นเกาะที่มีความสวยงามอีกเกาะหนึ่ง ของจ.ระนอง ใช้เวลาเดินทางโดยสปีดโบ๊ตจากท่าเรือระนอง เพียง 45 นาที ก็จะสัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม บนเกาะจะมีอ่าวหลักๆ สำคัญ คือ อ่าวแม่หม้าย อ่าวกวางปีบ อ่าวเขาควาย และอ่าวใหญ่ เกาะพยาม ก่อนหน้าจะเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มาร่วม 20 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวแบบแบ๊กแพ็กเกอร์ คือเข้ามาแล้วก็มาใช้ชีวิตอยู่ในเกาะพยามอยู่เป็นเดือนๆ มาสัมผัสธรรมชาติไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรมากมาย เป็นการมาพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติล้วนๆ หลังจากนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเที่ยวชมโบสถ์กลางน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น ดำน้ำตื้น หรือมาเดินชมธรรมชาติยามเช้า สัมผัสต่างๆทั้งป่าที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เกาะพยายามมีกาหยูเยอะมาก และหลายอย่างที่เป็นอันซีน อีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ นั้นก็คือ “นกเงือก”