เมื่อเร็ว ๆ นี้ ห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Thailand Policy Lab ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ได้จัดงานเสวนา “…Policy Innovation Exchange ครั้งที่ 2 (PIX2)…” ขึ้นที่ อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค และ ระบบเสวนาออนไลน์ webinar เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ร่วมออกแบบนโยบายพลิกโฉมประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานออนไลน์มากกว่า 1,100 คน

โดย นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานเสวนา Policy Innovation Exchange ครั้งที่ 2 หรือ PIX2 นี้ มุ่งหวังว่าประสบการณ์และแนวทางต่าง ๆ ในการพลิกโฉมประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น จากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่จะช่วยจุดประกาย ต่อยอดแนวคิด ทั้ง เอสโตเนีย หัวข้อการพลิกโฉมสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, เกาหลีใต้ การพลิกโฉมกรุงโซลสู่โลกดิจิทัลและอนาคต, สิงคโปร์ การใช้นวัตกรรมพลิกโฉมการทำงานภาครัฐ, สหราชอาณาจักร การพลิกโฉมกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ และ ประเทศไทย ภารกิจพลิกโฉมประเทศสู่อนาคต บทเรียนจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทยและต่างประเทศในงานนี้ จะเป็นการนำแนวปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ โดยมี Thailand Policy Lab เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

ขณะที่ นางคานนี วิกนาราจา ผู้อำนวยการภูมิภาคโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกผู้ช่วยเลขาธิการองค์การแห่งสหประชาชาติ และผู้อำนวยการประจำศูนย์ภูมิภาคแห่งเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า นวัตกรรมเชิงนโยบายเป็นการลงทุนที่มีความหมายมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฎิสัมพันธ์กับผู้คน การเคารพ และรับฟังซึ่งกันและกัน เป็นการทดลองออกแบบนโยบายที่ไม่ใช่เพียงอยู่ในเมืองหลวงแต่สามารถทำได้ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถการ มีส่วนร่วมได้อย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเป็นการออกแบบร่วมกัน ที่ไม่ใช่จากบนลงล่าง และไม่ใช่การทำงานเพียงครั้งเดียว แต่จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน โดยแต่ละประเทศที่ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนนี้จะได้กลับมาทบทวนว่า ควรปรับปรุงนโยบายอย่างไรท่ามกลางวิกฤติที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน

ดร.คริสติน่า เรอินซาลู ผู้อำนวยการโครงการ e-Democracy จากสถาบัน e-Governance ประเทศเอสโตเนียกล่าวว่า ชาวเอสโตเนียมีประสบการณ์การใช้ Application โทรศัพท์มือถือค่อนข้างมาก เพราะเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวเอสโตเนียมีส่วนร่วมในกำหนดนโยบาย และนับเป็นชาติแรก ๆ ที่สำรวจแล้วว่า มีการใช้ระบบออนไลน์ที่เข้าถึงบริการภาครัฐได้มากถึงร้อยละ 99 E-Citizen ทำให้ชีวิตคนง่ายขึ้น ความท้าทายนี้มีส่วนให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในระบบดิจิทัล ในการรับฟังข้อมูล ปรึกษาหารือ หรือออกแบบ เปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

“ในปีค.ศ. 2013 ประเทศเอสโตเนียใช้หลักการ Crowdsourcing มาระดมความคิดเห็นประชาชนว่า จะเปลี่ยนระบบให้ดีขึ้นได้อย่างไร การบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ทุกคนสามารถเสนอแนวคิดได้ และอาจมีนับ 1,000 แนวคิดเสนอไปที่สภาเอสโตเนีย ทำให้ประชาชนสามารถร่วมเสนอกฎหมาย โดยเก็บลายมือชื่อแบบดิจิทัลของคนที่เสนอ หรือเสนอเป็นกระทู้ เพื่อแสดงความคิดเห็นได้อีกด้วย” ดร.คริสติน่ากล่าว

ขณะที่ “ทีโอ ลินยู” หัวหน้าหน่วยออกแบบห้องปฎิบัติการนวัตกรรม ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์ต้องเผชิญกับวิกฤติมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีการออกแบบนโยบายนวัตกรรมในการให้บริการสาธารณะ อย่างเช่น การให้บริการด้านสาธารณสุขแบบดิจิทัล ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“เราจะเปลี่ยนบริการสาธารณะในสิงคโปร์ให้แตกต่าง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้นได้อย่างไร? เราจะทำงานน้อยลง แต่ได้รับผลมากขึ้นได้อย่างไร? วิสัยทัศน์ของเราคือการให้บริการสาธารณะแบบรวมศูนย์ ซึ่งได้รับความเชื่อมั่น ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ทีโอ ลินยู ให้ความเห็น

ด้าน นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถูกซ้ำเติมจากหลายปัญหา ทั้งจากโควิด-19 และวิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทุกภาคส่วนต้องรวมกันพยุงทิศทางประเทศไทยให้ดีขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ ภาคราชการ เอกชน และทุกภาคส่วน ต้องพัฒนาแบบก้าวกระโดดที่จะแข่งขันได้ในเวทีโลก

“จากมุมมองทั้ง 4 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบก้าวกระโดด หลังหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว นำหน้าประเทศไทยไปกว่า 10 ปี” นายสุริยนต์กล่าวและเผยต่อไปอีกว่า

ใน 5 ปี ข้างหน้าจะเป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คือปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การสร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม และพัฒนาสมรรถนะ การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ด้วยการส่งเสริมการดำเนินงาน ตามหลักเศษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อย่างชาญฉลาด เพิ่มศักยภาพ ของชุมชนในการรับมือภัยธรรมชาติ การปฏิรูปนโยบายสาธารณะของประเทศผ่าน Thailand Policy lab ที่จะต้องขับเคลื่อน เพื่อที่จะสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายให้กับประเทศไทย ด้วยการอบรมผ่านผู้ออกแบบนโยบายโดยตรง ให้เข้าถึงนักวิชาการ นักบริหาร ผ่านการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และขยายองค์ความรู้ไปให้เร็วที่สุด.