เมื่อวันที่ 25 ก.ค. เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และการรักษผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นและมีใจความตอนหนึ่งชี้แจงถึงประกาศของโรงพยาบาลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การไม่ใส่ท่อช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤติ ว่า วันสองวันนี้มีคนสอบถามมามากในเรื่องประกาศของโรงพยาบาลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การไม่ใส่ท่อช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤติที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และเสนอว่า ควรจะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ในระบบการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น
เราอยากจะอธิบายว่า การดูแลผู้ป่วยวิกฤติที่มีโอกาสรอดชีวิตต่ำมากโดยการไม่ใส่ท่อช่วยหายใจซึ่งจะมีผลทำให้คนไข้ต้องทรมาน ไม่ปั๊มหรือช็อคหัวใจ หรือไม่เจาะเส้นเลือดดำที่คอเพียงเพื่อช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยไปอีกระยะหนึ่ง หากแต่เลือกใช้การดูแลรักษาแบบประคับประคองหรือ Palliative care โดยการให้ออกซิเจน ให้มอร์ฟีนหรือยาระงับความรู้สึกนั้น เป็นกระบวนการดูแลผู้ป่วยวิกฤติที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นปกติในผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลทั้งหลายอยู่แล้ว หากว่าได้รับความยินยอมจากครอบครัวผู้ป่วย เพียงแต่ในสถานการณ์โควิดในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เรามีผู้ป่วยใน stageนี้มากขึ้น อาจจะถือได้ว่าเป็นสิบเท่าของกรณีปกติหรือมากกว่า และในสถานการณ์ที่มีเตียงICU อยู่จำกัดและมีผู้ป่วยวิกฤติรอเข้ารับการรักษาในเตียงไอซียูอีกมากมาย การพยายามช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยออกไปได้บ้าง อาจจะทำให้เกิดภาวะทุกข์ทรมานทั้งต่อตัวผู้ป่วยและคนในครอบครัว และอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การขาดแคลนเตียง ICU อย่างร้ายแรงที่เป็นอยู่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานทางวิชาการให้แพทย์ผู้ปฏิบัติงานทราบโดยทั่วไปถึงเกณฑ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบ Palliative careของโรงพยาบาล
เรายืนยันได้อย่างหนักแน่นด้วยว่าโดยจรรยาบรรณของวิชาชีพ แพทย์ทุกคนจะพยายามช่วยเหลือรักษาชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถและจะใช้ทุกวิธีการที่เป็นไปได้โดยไม่มีข้อยกเว้น การจะนำผู้ป่วยเข้ารักษาในระบบ Palliative careจะต้องเป็นไปโดยมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน โดยการหารือของแพทย์หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะต้องเป็นไปโดยความยินยอมพร้อมใจของครอบครัวผู้ป่วย หรือเป็นไปตามเจตนาที่ผู้ป่วยได้แสดงไว้ล่วงหน้าเท่านั้น
อีกเพียงสัปดาห์เดียวจะถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะเป็นจุดพีคของการระบาดใหญ่ในเวฟที่ 4 นี้ ในความเชื่อของพวกเรา ถ้าตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันจะไม่ทรงตัวอยู่แถวๆ13000-15000 หรือลดลงบ้างตอนสิ้นเดือนและกลับกลายเป็นว่าจะมีตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแทน นั่นก็คงทำให้เห็นได้เลยว่า สงครามคราวนี้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของพวกเรา และของระบบสาธารณสุขของเรา ด้วยเช่นกัน
เราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า แต่พวกเราก็พร้อมแล้วที่จะยืนเป็นแถวหน้า เพื่อจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้น และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือสงครามครั้งนี้จะจบลงอย่างไร.. #อนาคตจะต้องมีประเทศไทย ??