เมื่อวันที่ 25 ก.ค. สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “มาตรการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้านการศึกษาช่วงวิกฤตโควิด-19” กรณีศึกษานักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง บุคลากรการศึกษาและประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,094 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 – 24 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่าเมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อมาตรการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้านการศึกษา พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของทุกกลุ่ม ได้แก่ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 85.5 ผู้ปกครองร้อยละ 81.2 บุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 81.8 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 82.3 ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาและแก้ปัญหาด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพิ่มเติม ช่วงวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้เมื่อถามถึงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน พบว่า กลุ่มที่ต้องการให้รัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนมากที่สุดได้แก่ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 87.1 รองลงมาคือผู้ปกครองร้อยละ 83.1 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 82.9 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 77.3 ตามลำดับ
และเมื่อถามถึงความพอใจต่อรัฐบาลที่เห็นความสำคัญด้านการศึกษาช่วงวิกฤตโควิด-19 และอนาคตของเด็กและเยาวชน พบว่า ที่มากที่สุดคือนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 67.7 รองลงมาคือ ประชาชนทั่วไปร้อยละ 63.3 และผู้ปกครองร้อยละ 62.6 ในขณะที่บุคลากรทางการศึกษามีน้อยที่สุดคือร้อยละ 45.5 นอกจากนี้ในเรื่องความพอใจต่อมาตรการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ พบว่า ที่มากที่สุดคือ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 69.4รองลงมาคือประชาชนทั่วไปร้อยละ 66.4 ผู้ปกครองร้อยละ 63.2 และน้อยที่สุดคือ บุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 45.5 ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือเมื่อถามถึงความต้องการให้รัฐบาลช่วยลดภาระของนักเรียนนักศึกษาเพิ่มเติมอีกในการแบ่งชำระค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้านการศึกษา พบว่า นักเรียนนักศึกษามีสัดส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 87.1 รองลงมาคือ ประชาชนทั่วไปร้อยละ 83.6 ผู้ปกครองร้อยละ 81.6 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 72.7
เมื่อถามถึงความต้องการเร่งด่วนพิเศษช่วยเหลือด้านการศึกษาพบว่าต้องการให้มีการฉีดวัคซีนให้นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา โดยสัดส่วนมากที่สุดคือ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 85.5 รองลงมาคือ ผู้ปกครองร้อยละ 85.4 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 84.5 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 81.8 นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ ที่มากที่สุดนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 87.1 บุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 77.3 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 70.4 และผู้ปกครองร้อยละ 70.0 ที่ระบุว่าต้องการให้มีจิตแพทย์ ที่ปรึกษาประชาชนระบายความเครียด และเมื่อถามถึงความพอใจต่อการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา พบว่าผู้ปกครองร้อยละ 61.5 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 60.5 นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 55.7 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 54.5 ระบุว่า พอใจมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่กำหนด ว่า ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาทให้ลดค่าธรรมเนียม ค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ปกครองร้อยละ 77.0 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 66.3 นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 64.5 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 61.4 ระบุ ให้ลดการเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้เปิดการเรียนการสอน.