จากการที่ กกต. กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 22 พ.ค.65 นั้น เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่อการขับเคลื่อนนโยบายของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร KBU SPORT POLLโดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ว่าที่ผู้ว่าฯ​ กทม. กับมิติการพัฒนากีฬาเพื่อคนเมือง”

การสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 26-28 มี.ค.65 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไป ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,187 คน แบ่งเป็นเพศชาย 648 คน คิดเป็นร้อยละ 54.60 เพศหญิง 539 คน คิดเป็นร้อยละ 45.40

สรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ โดยภาพรวมพบว่าความสนใจที่จะติดตามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.50 สนใจ รองลงมาร้อยละ 21.01 ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 4.49 ไม่สนใจ, บุคคลในใจที่เห็นว่าเหมาะกับตำแหน่ง ผู้ว่าฯ​ กทม. ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.71 มีแล้ว รองลงมาร้อยละ 29.44 ยังไม่ตัดสินใจและร้อยละ 8.85 ยังไม่มี

ความเชื่อมั่นที่มีต่อการส่งเสริมกิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกายของว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.15 ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 21.66 ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 16.96 เชื่อมั่น และร้อยละ 8.23 ไม่เชื่อมั่น

นโยบายการส่งเสริมกิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกาย ที่ต้องการให้ว่าที่ผู้ว่าดำเนินการ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.08 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนตื่นตัวในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง รองลงมา ร้อยละ 21.11 พัฒนาและเพิ่มลานกีฬาในชุมชนอย่างทั่วถึง ร้อยละ 17.29 ส่งเสริมให้กีฬาเป็นหนึ่งในมิติของการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ร้อยละ 14.59 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงศูนย์และสนามกีฬา ร้อยละ 13.61 สนับสนุนอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายอย่างพอเพียง​ และอื่นๆ ร้อยละ 9.32

ปัญหาที่ต้องการให้มีการแก้ไขสำหรับการส่งเสริมการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของคนเมือง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.14 ปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการส่งเสริมและสนับสนุน รองลงมา ร้อยละ 25.07 ปัญหาสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ ร้อยละ 20.09 ปัญหาการขาดโอกาสในการเข้าใช้ศูนย์ฝึกและสนามกีฬา ร้อยละ 15.53 ปัญหาบุคลากรสำหรับการให้การบริการ ร้อยละ 7.63 ปัญหาการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณ และอื่นๆ ร้อยละ 3.54

ขณะที่ ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต ในฐานะผู้ดำเนินการ KBU SPORT POLL กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจที่จะติดตามการเลือกตั้งและมีบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมอยู่ในใจแล้ว ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่ากรุงเทพมหานคร ว่างเว้นจากการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในตำแหน่งพ่อเมืองมานานแล้วก็ได้ และที่น่าสนใจหนึ่งในมิติที่ว่าที่ผู้ว่าต้องตระหนักและไม่ควรมองข้ามคือแนวนโยบายตลอดจนการแก้ปัญหาสำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนการนำเอากิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกายมาขับเคลื่อนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับคนเมือง ซึ่งจากผลการสำรวจดังกล่าว น่าจะเป็นกระจกเงาและข้อมูลให้ว่าที่ ผู้ว่าฯ​ กทม.ได้นำไปเป็นโจทย์และการบ้านสำหรับการบริหารจัดการต่อไป