นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยถึงกรณีประเทศไทยจะเกิด Stagflation หรือเศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อสูงหรือไม่นั้น มองว่า Stagflation ถูกใช้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งสื่อถึงความน่ากลัวของเศรษฐกิจและนิยามอาจไม่เหมือนกัน
แต่ Stagflation คือ เศรษฐกิจถดถอยเติบโตช้าตกต่ำนาน และเงินเฟ้อต้องสูงและสูงต่อเนื่องอย่างยั่งยืน แต่ประเทศไทยไทยไม่ได้เข้าข่าย Stagflation เพราะเศรษฐกิจขยายตัว 3.2% และปี 66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 4.4% โดยเศรษฐกิจปี 66 จะเติบโตเร็วกว่าศักยภาพด้วย มองอย่างไรแล้วก็ไม่เข้าข่าย Stagflation
ทั้งนี้การที่เงินเฟ้อสูงขึ้นเกินกว่าคาด โดยปีนี้เงินเฟ้อทั่วไป 4.9% มาจากปัญหารัสเซียและยูเครน ที่ไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ และแนวโน้มในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีก แต่มองระยะปานกลางจะกลับเข้ามากรอบเป้าหมาย 1-3% ได้
โดยปกติแล้วนโยบายการเงินจะส่งผลอย่างน้อย 1 ปีเป็นต้นไป ทำให้ กนง.มองตรงนี้และมองทะลุความผันผวนในระยะสั้น และเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว การฉุดเศรษฐกิจแรง ให้เงินเฟ้อหล่นเข้าในกรอบเป็นเรื่องไม่คุ้ม จึงให้น้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อไป
อย่างไรก็ตามถ้าเงินเฟ้อยังไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมายทางการเงินที่เงินเฟ้อทั่วไป 1-3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า จะต้องส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง รับทราบ ชี้แจงสาเหตุว่าทำไมถึงไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย
“มาตรการของภาครัฐช่วยค่าครองชีพ กนง.มองเป็นสิ่งที่ดี เพราะภาระประชาชนและธุรกิจ มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระทบคนมีรายได้น้อย กระทบประชาชน เป็นเหตุผลออกมาตรการมาเรื่อยๆ พยายามช่วยตรงจุดและเป็นแค่ชั่วคราว ช่วงได้รับผลกระทบ โดยภาพรวมภาครัฐและ ธปท.มีวิธีการรองรับแรงกระแทกช่วงนี้ได้ดี”