สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ว่า นายโอเล็กซานเดอร์ ชาลี หนึ่งในสมาชิกคณะผู้แทนเจรจาของยูเครน กล่าวถึงผลการเจรจารอบล่าสุดกับคณะผู้แทนของรัสเซีย ที่เมืองอิสตันบูล เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลเคียฟได้ยื่นข้อเสนอแก่รัสเซีย ซึ่งรวมถึงการที่ยูเครนจะไม่เป็นสถานที่ตั้งของฐานทัพประเทศใด และไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพทางทหารแห่งใดก็ตาม ที่รวมถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)


ท่าทีดังกล่าวจะหมายถึง สถานะเป็นการกลางทางทหารและการเป็นรัฐปลอดนิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเคียฟขอการมี “หลักประกันด้านความมั่นคง ตามมาตรา 5 ของนาโต” โดยเสนอชื่อโปแลนด์ อิสราเอล ตุรกี และแคนาดา อย่างไรก็ตาม การอ้างถึงมาตรา 5 ของนาโต หมายความว่า หากยูเครนถูกรุกรานทางทหาร เท่ากับว่า นาโตสามารถส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนได้ ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่า รัฐบาลมอสโกจะยอมรับจุดนี้ได้หรือไม่


นอกจากนี้ ยูเครนเสนอกรอบระยะเวลาหารือยาวนาน 15 ปี เกี่ยวกับสถานะของคาบสมุทรไครเมีย แม้ยังไม่ได้ระบุถึงสถานะของเขตลูฮันสก์และเขตโดเนตสก์ ในภูมิภาคไครเมีย แต่การยื่นข้อเสนอครั้งนี้ ถือเป็น “รายละเอียดมากที่สุด” นับตั้งแต่การสู้รบปะทุ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา


ขณะที่นายวลาดิเมียร์ เมดินสกี ผู้ช่วยของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของรัสเซีย กล่าวถึงผลการเจรจาครั้งนี้ว่า จะมีการหารือกันเป็นการภายในอีกครั้ง รวมถึงการที่รัฐบาลเคียฟขอลงประชามติก่อนด้วย อย่างไรก็ดี รัฐบาลมอสโก “ไม่คัดค้าน” การที่ยูเครนสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)


ด้าน พ.อ. อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รมช.กลาโหมของรัสเซีย ซึ่งร่วมคณะเจรจาด้วย กล่าวว่า เนื่องจากการหารือกับยูเครน “มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น” กองทัพรัสเซียจะลดระดับปฏิบัติการทางทหารรอบกรุงเคียฟ และที่เมืองเชอร์นิฮิฟ ที่อยู่ทางเหนือของยูเครน พร้อมทั้งขอให้ยูเครนยึดมั่นตามอนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยการดูแลเชลยศึกตามหลักมนุษยธรรม.

เครดิตภาพ : REUTERS