ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า นี่คือครั้งแรกที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมกับภาคเอกชนในการเปิดบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งมีบริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด เป็นผู้ร่วมทุนในการจัดตั้งบริษัท เคเคยู มิส ลิลลี่ โฮลดิ้ง จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โดยที่มิส ลิลลี่ ถือหุ้น 51% และมหาวิทยาลัยฯ ถือ 49% ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ต้องการผลักดันงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน ด้วยทางมหาวิทยาลัยฯ มีทรัพยากรและบุคลากรที่มีศักยภาพในการทำงานวิจัย แต่ติดข้อจำกัดในเรื่องกฎระเบียบราชการและเวลาการทำงานของอาจารย์นักวิจัยที่มีภาระด้านงานสอน จึงไม่สามารถทำให้งานวิจัยออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ งานวิจัยในมหาวิทยาลัยฯ ส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดจึงไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดี ที่ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้น ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพและมีมุมมองในการสร้างธุรกิจ อย่างมิส ลิลลี่ เพื่อก่อตั้งคณะทำงานในรูปแบบผสมผสาน ที่รวมเอาจุดแข็งในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย เครื่องมือ และองค์ความรู้ เข้าด้วยกันเพื่อผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังใช้เงินลงทุนน้อยกว่างานวิจัยที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนหรือภาครัฐเพียงลำพัง โดยบริษัทโฮลดิ้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมด้านสุขภาพและเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ ที่สามารถส่งออกไปสู่ตลาดโลก”

นายเรวัต จินดาพล ผู้ก่อตั้ง บริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด ผู้บุกเบิกธุรกิจสั่งดอกไม้ออนไลน์เจ้าแรกของประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฯ ในการสร้างสตาร์ทอัพ โดยใช้แนวคิดในการสร้างงานวิจัยออกสู่ตลาด มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่ออกมา Disrupt ตลาดในปัจจุบัน และต้องมีจุดเด่นที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก เพื่อประโยชน์ที่จะมอบแก่ผู้คน ชุมชน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ บริษัทฯ จึงใช้การวิเคราะห์และสร้างรูปแบบธุรกิจ (Business Model) เพื่อให้เกิดความชัดเจนทางด้านการตลาดและใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ในตลาด บริษัทฯ ยังได้ส่งทีมนักวิทยาศาสตร์เข้าทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 รวมถึงทีมงานสาขาแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เข้ามาร่วมทำงานกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ จึงเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในรูปแบบไฮบริด เพื่อตัดข้อจำกัดในรูปแบบระบบราชการ ทำให้โครงการมีความคืบหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนจากการที่บริษัทฯ สามารถนำผลงานวิจัย แอนโดรกราโฟไลด์ นาโน อิมัลชั่น จากห้องวิจัยออกมาสู่โรงงานผลิตได้ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือน”

เภสัชกร พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ในฐานะนายกเทศมนตรีนครยะลา ได้เปิดเผยว่า จากการได้ร่วมเป็นชุมชนต้นแบบทดลองใช้ แอนโดรกราโฟไลด์ นาโน อิมัลชั่น ในรูปแบบของสเปรย์พ่นคอ ที่ได้จากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ธันวาคม 2564 จนถึงมีนาคม 2565 และได้เริ่มต้นแจกจ่ายให้ประชาชนในงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ในเมืองยะลา 500 กว่าคน และนักเรียนในโรงเรียนเทศบาลทั้ง 5 โรงเรียนในพื้นที่เทศบาลนครยะลา จำนวนกว่า 3,000 คน รวมถึงผู้ร่วมกิจกรรมงานประกวดนกเขา 2,000 กว่าคน พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนได้มีการใช้สเปรย์พ่นคอให้กับนักเรียนทุกคน จนทำให้โรงเรียนกลับมาเปิดเรียนปกติ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้นับเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้จังหวัดยะลาเปิดเมืองได้อีกครั้ง เพื่อให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้