นายวัฒนศักดิ์​ เสือเอี่ยม​ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ 3 สมาคม​ผู้ผลิต​ ผู้จำหน่ายและนำเข้าปุ๋ยเคมีว่า จากการหารือทั้ง 3 สมาคม ได้แก่ ​สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ต่างยืนยันว่าปุ๋ยมีเพียงพอสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ โดยที่ผ่านมาแม้สต๊อกจะลดลงไปบ้าง แต่ก็ได้กำชับให้เร่งนั้นเข้าต่อเนื่อง และสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว โดยเฉพาะปุ๋ยสูตรหลักที่คนนิยมใช้ เช่น ยูเรีย โพแทสเซียม และฟอสเฟต ทำให้มั่นใจว่าตลอดครึ่งปีแรกมีจะไม่ขาดแคลน และผู้ประกอบการบางรายก็มีสตีอกพอไปถึงไตรมาส 3 และ 4 แล้วด้วย 

“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการนำเข้าอาจมีการสะดุดไปบ้าง เพราะแหล่งวัตถุดิบนำเข้าสำคัญหลายแห่ง ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และบางประเทศก็มีกันสำรองไว้สำหรับความั่นคงทางอาหารในประเทศ ทำให้ปริมาณปุ๋ยในตลาดลดลง แต่ทางภาครัฐ และเอกชนก็ได้ช่วยกันมองหาจากแหล่งอื่น เช่น การฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย แหล่งผลิตปุ๋ยสำคัญให้ส่งมาไทยเพิ่ม หรือการเปิดนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว โดยโจทย์ตอนนี้ ต้องดูแลปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการใช้ เพราะแต่ละปีมีความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศประมาณ 5 ล้านตัน”

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมี กรมฯ ได้ขอให้ผู้ประกอบการส่งต้นทุนมาให้กรมฯ แล้ว โดยจะพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง มีหลักเกณฑ์ให้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุน ไม่ใช่ให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด เพราะผู้ประกอบการแต่ละราย ปุ๋ยแต่ละชนิด มีต้นทุนไม่เท่ากัน ที่สำคัญการขึ้นราคา จะต้องไม่เป็นภาระกับเกษตรกรมากจนเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ และประกอบธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทุกอย่างจะต้องสมเหตสมผล เพราะในมุมของกระทรวงจะต้องทั้งปริมาณ และราคาให้เหมาะสม โดยหากไม่ให้ขึ้นราคา ก็อาจมีปัญหาเรื่องสินค้าขาดแคลน ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาอีก

สำหรับต้นทุนปุ๋ยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการแจ้งว่า ปุ๋ยสูตรหลัก ๆ มีการปรับขึ้นต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ยยูเรีย ราคาเอฟโอบีอยู่ที่ 960-1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ฟอสเฟตอยู่ที่ 1,100-1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และโพแทสเซียมอยู่ที่ 950-1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาสูงขึ้นจากเดิม 100-200% แต่ในการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา จะให้ขึ้นตามต้นทุน ไม่ได้ให้ขึ้นสูงทีละ 100-200% แน่นอน เพราะยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่ รวมถึงต้องดูต้นทุนอื่น ๆ ประกอบ

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ขอความร่วมมือให้สมาคม ช่วยดูแลสมาชิก หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดมีการกักตุน ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา ขอให้ตัดสิทธิไม่ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอีก และในส่วนของกรมฯ จะดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุดทุกราย และยังได้ขอความร่วมมือให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทำการติดตาม ตรวจสอบปริมาณด้วย