จากกรณีที่มี รพ.เอกชน แห่งหนึ่งได้แจ้งคืนเงินจองวัคซีนโมเดอร์นาให้กับประชาชนบางส่วนไป เนื่องจากได้รับการจัดสรรมาน้อยกว่าที่มีการจอง โดยอ้างว่าเนื่องจากตอนแรกมียอดจองไป 9.2 ล้านโด๊ส แต่ทางองค์การเภสัชกรรม แจ้งว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนมาไตรมาส 4 ได้เพียง 4.9 ล้านโด๊ส โดยต้องแบ่งให้ทางสภากาชาดไป 1 ล้านโด๊ส เหลือ 3.9 ล้านโด๊ส มาแบ่งกันในรพเอกชน (277 รพ.) ทางสมาคม รพ.เอกชน จึงมีความจำเป็นที่ต้องตัดโควตาของทุก รพ.ที่มียอดจองเกิน 10,000 โด๊ส ตามข่าวที่นำเสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูล สภากาชาดไทย ได้มีการออกเอกสารชี้แจงกรณีดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 ถึงเรื่องนี้ว่า “สภากาชาดไทยได้ดำเนินการติดต่อขอสั่งซื้อ วัคซีนโควิด-19 Moderna กับบริษัทผู้แทนจำหน่ายมาตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 เมื่อรัฐบาลมอบให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดซื้อและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 Moderna บริษัทผู้แทนจำหน่ายจึงได้ขอให้องค์การเภสัชกรรมได้สั่งวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 ล้านโด๊สให้สภากาชาดไทยด้วย โดยบริษัทผู้แทนจำหน่ายได้แจ้งยืนยันกับองค์การเภสัชกรรมตั้งแต่ต้นว่า วัคซีนโควิด-19 Moderna ที่จะเข้ามาปลายปีนี้ เป็นของสภากาชาดไทยจำนวน 1 ล้านโด๊ส ดังนั้นการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 Moderna จำนวน 1 ล้านโด๊สของสภากาชาดไทย จึงไม่ได้เป็นการตัดยอดออกมาตามที่เข้าใจ แต่เป็นการสั่งจองไว้ก่อน ต่างหากจากวัคซีนจำนวน 4 ล้านโด๊ส”
ทั้งนี้ สภากาชาดไทย ได้ออกเอกสารล่าสุด ลงวันที่ 24 ก.ค. ระบุว่า ตามที่ สภากาชาดไทยได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง ขอความร่วมมือในการแจ้งจองวัคซีนสำหรับฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มอื่นๆ โดยไม่คิดมูลค่า ตามแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับประชาชนของสภากาชาดไทย โดยกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสั่งจองเข้ามายัง สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. 2564 ล่าสุดขณะนี้ มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งสิ้น 38 จังหวัดที่ แจ้งการจองวัคซีนเข้ามา ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ชลบุรี ราชบุรี อุดรธานี สระบุรี มหาสารคาม สิงห์บุรี ลำพูน กระบี่ แพร่ สมุทรสาคร เพชรบูรณ์ นครปฐม ร้อยเอ็ด นครนายก พะเยา กาฬสินธุ์ พระนครศรีอยุธยา น่าน นราธิวาส ศรีสะเกษ สุพรรณบุรี อุทัยธานี เชียงราย สุโขทัย อ่างทอง ภูเก็ต อุตรดิตถ์ มุกดาหาร ตาก ชุมพร พังงา ลพบุรี สุรินทร์ และปัตตานี
โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 38 จังหวัด ได้นำเสนอแผนการฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายที่สภากาชาดไทยกำหนด และผ่านการพิจารณาจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้เซ็นกำกับรับรองส่งมายังสภากาชาดไทย เพื่อพิจารณาจัดสรรโควตาวัคซีนพร้อมชำระเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ราคา 1,100 บาท/โด๊ส ซึ่งสภากาชาดไทยจะทยอยจัดสรรวัคซีนให้ไปในเดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นไป
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่สภากาดไทยกำหนดคือ 1.คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน 2.ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน 3.บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในถิ่นทุรกันดาร 4.ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครู อาจารย์ ผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน 5.บุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนของ อบจ. ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย.