นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์ให้กลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารพาณิชย์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีหน่วยงานกำกับดูแลให้ใบอนุญาตแล้ว เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเอกซ์เชนจ์, โบรกเกอร์ และดีลเลอร์ เป็นต้น รวมถึงธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประโยชน์และความเสี่ยงยังไม่ชัดเจน และเข้าทดทอบในแซนด์บ็อกซ์ของ​ ธปท. ให้สามารถลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากเดิมไม่สามารถให้ลงทุนได้ คาดหลักเกณฑ์จะออกและมีผลบังคับใช้ช่วงกลางปีนี้

ทั้งนี้ หากกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารพาณิชย์สามารถมีแนวทางจัดการด้านความเสี่ยง จนเป็นที่แน่ใจว่าจะดูแลทั้งเรื่องธรรมาภิบาล ความเสี่ยงระบบงาน และคุ้มครองผู้ใช้บริการ และเกิดความมั่นใจได้ ธปท.จะอนุญาตให้ปลดล็อกเพดานเงินลงทุนที่ 3% นี้ และให้กลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารพาณิชย์ ไม่เชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ฝากเงินและระบบการเงิน โดย​ ธปท.ยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง และธุรกิจการเงินธนาคารพาณิชย์ต้องมีโครงสร้างกรรมการไม่ขัดต่อผลประโยชน์ มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยง และแยกธุรกิจที่มีความเสี่ยงออกจากธนาคารพาณิชย์

ขณะเดียวกัน​ ธปท.ได้ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจฟินเทค ของกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน มาเป็นไม่กำหนดเพดาน เพื่อให้ใช้ประโยชย์จากฟินเทคได้มากขึ้น เพราะ​ ธปท.ได้เห็นประโยชน์ชัดเจน และกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารพาณิชย์มีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจฟินเทคมากขึ้น และ​ ธปท.มีแนวทางกำกับดูแลความเสี่ยงระดับหนึ่งแล้ว

ส่วนกรณีของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้ให้ธุรกิจการเงินในเครือเข้าซื้อ บิทคับ ที่เป็นเอกซ์เชนจ์นั้น ต้องมาดูว่าเกิน 3% ของเงินกองทุนหรือไม่ ถ้าหากเกิน 3% แต่ทำผ่าน เอสซีบี เอกซ์ ที่เป็นโฮลดิ้งคัมปะนี ในส่วนที่เกิน 3% สามารถทำได้ แต่เงินกองทุนจะลดลง ซึ่งแนวทางอาจต้องเพิ่มเงินกองทุนด้วยหรือไม่ ถือเป็นเรื่องปกติถ้าธุรกิจต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติม ก็ต้องเพิ่มทุน แต่ถ้าเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะไม่สามารถเกิน 3% ได้ ทั้งนี้เข้าใจว่า ธนาคารไทยพาณิชย์กำลังพิจารณาอยู่ว่าเงินลงทุนจะแตกต่างไปจากเดิมที่เคยประกาศไว้หรือไม่

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ผ่านมาให้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทางอ้อมได้ แต่ต้องมาหารือกั​ ธปท.ก่อน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์​ (ก.ล.ต.) ออกใบอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือไอซีโอ พอร์ทัล การเป็นโบรกเกอร์ หรือเอกซ์เชนจ์ เป็นต้น และต้องไม่กระทบกับความเสี่ยงของเงินฝากประชาชน โดยยังไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ยุ่งเกี่ยวโดยตรง

นอกจากนี้ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์เสนอขาย หรือกระตุ้นความสนใจลูกค้าในวงกว้างได้ เช่น​ เสนอขายลูกค้าธนาคารผ่านสาขา เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และไม่อนุญาตให้ขอความยินยอมจากลูกค้า การขอความยินยอมก็ไม่อนุญาตเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดการสนับสนุนหรือกระตุ้นให้ลูกค้าที่ไม่มีความเข้าใจ หรือไม่มีความพร้อมรองรับความผันผวนและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล

นางรุ่ง กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีโครงสร้างกรรมการ มีหลักธรรมาภิบาลที่ดี ต้องพิทักษ์เงินฝากเต็มที่ ไม่ขัดแย้งผลประโยชน์ ต้องมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยง และระบบงานไอที ต้องแยกออกจากระบบเกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ชัดเจน เพื่อปกป้องเงินฝาก และเพียงพอรองรับความเสี่ยง รองรับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ​ ได้ เช่น ความเสี่ยงจากกรณีบริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ถือครองเหรียญสินทรัพย์ดิจิทัล ทุกประเภท ยกเว้น ซีบีดีซีของ​ ธปท. และสเตเบิลคอยน์ที่มีเงินบาทหนุนหลัง ภายใต้การกำกับในอนาคต