เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 24 ก.ค. นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การติดตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เร่งรัดการส่งออก ขยายโอกาสทางการค้า เพื่อนำรายได้เข้าประเทศนั้น ล่าสุดจากรายงานความเคลื่อนไหวตลาดต่างประเทศของสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่การทำงานเชิงรุกของทีมเซลส์แมนประเทศหรือทูตพาณิชย์ในต่างประเทศมีความคึกคัก
“ขณะนี้สถานการณ์ความเคลื่อนไหวตลาดจากทั่วโลกเพื่อผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนการพัฒนาและผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของตลาดแต่ละประเทศตามกลยุทธ์ “ตลาดนำการผลิต” ภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดของนายจุรินทร์ อยากแจ้งให้ทราบว่ามีโอกาสในสินค้าเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market และโอกาสในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยโอกาสของตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม ล่าสุด มีที่สหภาพยุโรปที่ได้รับรองหนอนกอบให้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ได้และยังมีอีก 14 รายการของแมลงที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบขึ้นทะเบียนพิจารณาเป็นอาหารสำหรับมนุษย์” นางมัลลิกา กล่าว
ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สินค้าตกแต่งบ้านแฮนด์เมดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ เสื่อรองจานตะกร้าสาน มีความต้องการมากในเยอรมนี ดังนั้นไทยจึงควรศึกษาเรื่องตรารับรอง SSC และกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของสินค้าสิ่งทอของยุโรปด้วย สำหรับตลาดสหราชอาณาจักร มีความต้องการสินค้าเทคโนโลยีสำหรับสัตว์เลี้ยงในเพิ่มขึ้นเพราะคนเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ เช่น กล้องวงจรปิด อุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนไหวของสัตว์ และบริการสมัครสื่อบันเทิงสำหรับสัตว์ ส่วนสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง ด้านตลาดทางจีน ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ซื้อหลักในจีน คือ สตรีวัยกลางคน ที่มีการศึกษาและมีสถานะการเงินสูงกว่ารายได้เฉลี่ย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ เพื่อเปิดเจาะตลาดได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็ก หรือ Micro-SME และ SME หรือ MSME เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเท่าการเจาะตลาดในรูปแบบดั้งเดิม โดยที่ตลาดไต้หวัน มีแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ได้แก่ Momo, Pinkoi และ PC Home สำหรับสินค้าสินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สินค้าอาหาร ของใช้ในบ้าน อุปกรณ์ 3C คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค และอาหารเสริม ซึ่งล้วนเป็นสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันที่ตอบรับกระแสการทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ทั้งสิ้น
ส่วนสำหรับผู้ที่สนใจขยายตลาดไปยังมาเลเซียอาจจะพิจารณาแพลตฟอร์ม Shopee ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในมาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดถึง 82% ส่วนตลาดอินโดนีเซียเป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพ เพราะเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และ สหรัฐอเมริกา มีแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ได้แก่ Goto ของอินโดเซีย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่เกิดจากการควบรวมของ GoJek และ Tokopedia แต่ในอินโดนีเซียนั้น Shopee ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกหลักของผู้ซื้อออนไลน์ในอินโดนีเซีย เขาประกาศไม่ให้นำเข้าสินค้ากลุ่ม MSME จากประเทศอื่น ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม MSME ในประเทศของเขาเองเป็นตามนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซีย เราควรต้องทราบ
“วิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในทุกประเทศ และพฤติกรรมของผู้บริโภคต่างแปรผันตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศค่ะ ผู้ประกอบการควรทำการตลาดสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าภารกิจทีมเซลส์แมนประเทศไทย ได้ติดตามและเร่งรัดการทำงานของเซลส์แมนจังหวัดให้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังทีมเซลส์แมนประเทศ ที่อยู่ในต่างประเทศในการทำการตลาดได้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาดต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะได้นำรายได้เข้าประเทศมาช่วยชาติยามนี้ให้มากที่สุด เพราะตอนนี้ส่งออกเป็นขาหลักขาเดียวของประเทศเราที่เหลืออยู่ เวลานี้เพราะการท่องเที่ยวเดี้ยงไปแล้ว เวลานี้ประเทศชาติต้องการเรา” นางมัลลิกา กล่าว.