จากกรณีโลกออนไลน์เผยแพร่ภาพ “เสาไฟกินรี” ตั้งติดกันถี่ยิบอยู่ริมคลอง ภายหลังพบว่าจุดดังกล่าวอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสระแก้ว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมในการก่อสร้าง เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่จุดก่อสร้างพบว่า ตั้งอยู่บริเวณริมคลองพระสทึง ฝั่งเทศบาลเมืองสระแก้ว เขตชุมชนย่อยที่ 20 สระแก้ว-สระขวัญ ถนนเทศบาล 6 ใกล้กับสะพานข้ามคลองพระสทึงไปยังพื้นที่ ต.สระขวัญ อ.เมือง จ.สระแก้ว ก่อสร้างโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสระแก้ว ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองพระสทึงฯ ความยาว 100 เมตร จากกรมโธยาธิการและผังเมือง งบประมาณปี 2558 จำนวน 2.1 ล้านบาท, งบผูกพันปี 2559 จำนวน 8.4 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 10.5 ล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดชื่อดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ เป็นผู้รับจ้างโครงการ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 137/2558 ลงวันที่ 29 พ.ค. 58 วงเงินสัญญาจ้าง 10,277,000 บาท โดยมีการบันทึกส่งมอบและรับมอบ ทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างโครงการให้กับเทศบาลเมืองสระแก้ว เป็นผู้ดูแล เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งความยาวประมาณ 100 เมตร มีการติดตั้งเสาไฟกินรีชิดกัน ระยะห่างระหว่างเสาประมาณ 2.00-2.50 เมตร จำนวน 34 ต้น ปัจจุบันมีเถาวัลย์และต้นไม้ปกคลุมบางส่วน ประชาชนที่จะเข้าไปใช้งาน ต้องเดินลัดเลาะไปบริเวณริมคลอง เพื่อเดินขึ้นไปบนสันเขื่อน ซึ่งดูจากสภาพที่เห็น คาดว่าจะมีคนในพื้นที่เข้าไปใช้งานน้อยมาก ขณะที่หลอดไฟบางหลอดมีสภาพที่ใช้งานไม่ได้ บริเวณสวิตช์ไฟถูกรื้อถอดออกหลายเสา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บางรายเห็นว่า มีการก่อสร้างแล้วแทบไม่ได้มีการใช้งาน จึงถ่ายภาพดังกล่าวส่งไปเผยแพร่ในเพจดัง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ด้าน นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้สั่งการในที่ประชุมจังหวัด ภายหลังเรื่องนี้ตกเป็นข่าวและถูกวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองสระแก้ว ชี้แจงกรณีนี้ให้สังคมเข้าใจ หลังใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 10 ล้านเศษ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2558 ด้วย

อย่างไรก็ตาม นายวิทยา ไวนุสิทธิ์ นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ได้ให้ข้อมูลว่า การสร้างเขื่อนที่ตกเป็นข่าว ได้ขออนุญาตกรมเจ้าท่าอย่างถูกต้อง ความยาว 100 เมตร ใช้เสาไฟ 36 ต้น ราคาต้นละ 11,500 บาท รวมทั้งระบบการติดตั้งทั้งหมด โดยสร้างเมื่อปี 2558 เสร็จสิ้นปี 2559 และส่งมอบให้ทางเทศบาลดูแลตั้งแต่ปี 2560

นายสุรศักดิ์ โสภัณฑ์ นายช่างโยธาธิการอาวุโส กล่าวว่า ในที่ประชุมจังหวัดผู้ว่าฯ ได้สั่งการให้ผู้ดูแลโครงการฯ ชี้แจงในส่วนที่มีการใช้เสาไฟกินรีจำนวนมาก โดยแนะนำให้มีการขยับออกไป โดยให้รื้อถอนและจัดระยะห่างให้เหมาะสม พร้อมกับนำเสาไฟส่วนที่ถอดออก ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป.