นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก​ (สคฝ.) เปิดเผยว่า ในปี 64 สถิติการฝากเงินคนไทยที่ได้รับความคุ้มครองจาก สคฝ. เพิ่มขึ้น 3.45 ล้านราย จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 82.38 ล้านราย เป็น 85.83 ล้านรายในปี 64 หรือเติบโต 4.19% ส่วนยอดเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองสิ้นปี 64 อยู่ที่ 15.592 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 63 มี 14.936 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.56 แสนล้านบาท หรือเติบโต 4.39% ทำให้ผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองมีสูงถึง 98% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝากที่ต้องคุ้มครองเงินฝากไม่น้อยกว่า 90% โดยปัจจุบันได้รับวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน

สำหรับยุทธศาสตร์ของ สคฝ.ในปีนี้ ได้พัฒนาเครื่องมือที่จะให้บริการประชาชนโดยเฉพาะระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการจ่ายคืนผู้ฝากและการชำระบัญชี อีกทั้งมีการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารเป็นหลากหลายช่องทาง เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลให้สามารถตรวจสอบข้อมูล ตอบข้อซักถาม ช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

นายทรงพล กล่าวว่า หน้าที่หลักของ สคฝ. คือ คุ้มครองผู้ฝากเงิน กรณีสถาบันการเงินปิดกิจการจะได้รับวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทจ่ายภายใน 30 วันโดย​ สคฝ.จะมีคำแนะนำต่างๆ​ ตามขั้นตอนให้ประชาชนผู้ฝากเงินได้รับทราบ ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท เป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเวลานี้มีคนมีเงินฝากต่อบัญชีน้อยลง จากสภาพเศรษฐกิจที่มีความท้าทายมากขึ้น คนเลือกนำเงินฝากไปใช้จ่าย แต่ขณะเดียวกันก็มีบางรายที่เหลือนำเงินมาฝากเพราะมองว่าเงินฝากเป็นแหล่งพักเงินในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน

ส่วนกรณีการคุ้มครองเงินที่อยู่ในบริการอีมันนี่นั้น ต้องยอมรับว่ากฎหมายความคุ้มครองแตกต่างกัน โดย​ สคฝ.คุ้มครองเงินฝากภายใต้​ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน แต่อีมันนี่จะมีกฎหมาย​ พ.ร.บ.การชำระเงิน ซึ่งระบุชัดเจนว่า ผู้ให้บริการอีมันนี่ ห้ามนำเงินลูกค้าไปใช้ประโยชน์อื่นต่อ ทำให้หากผู้ให้บริการอีมันนี่รายใดปิดกิจการ เงินของลูกค้าจะต้องอยู่ครบทั้งหมด ไม่สูญหาย ยกเว้นแต่ผู้ให้บริการอีมันนี่นำเงินไปเก็บไว้ที่สถาบันการเงิน ซึ่งหากสถาบันการเงินรายนั้นปิดกิจการ ในส่วนนี้ สคฝ.จะรับคุ้มครองภายใต้วงเงิน 1 ล้านบาท โดย​ สคฝ.กำลังศึกษาก่อนจะเสนอคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่ในส่วนการบริหารเงินกองทุนที่ปัจจุบันมีกว่า 1.3 แสนล้านบาท โดย​ สคฝ.เลือกลงทุนในตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.) เป็นหลัก โดยผู้ฝากเงินไม่ต้องเป็นห่วงว่าเงินจะสูญหาย เพราะพันธบัตรมีความมั่นคงและความปลอดภัย ความเสี่ยงไม่สูง แต่ผลตอบแทนจะไม่สูงมากนัก เพราะเน้นเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคง ทำให้ผู้ฝากเงินมั่นใจได้ว่าเงินไม่หายไปไหน

“การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้คือภูมิคุ้มกันที่จะช่วยลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด​ สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการ”