รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ขณะนี้ได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (สผ.) พิจารณาแล้ว ซึ่งคงต้องรอการพิจารณาในเบื้องต้นว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร หากมีแนวโน้มราบรื่นดี คาดว่าจะเสนอโครงการฯ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาอนุมัติได้ประมาณเดือน พ.ค.65
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับโครงการดังกล่าว มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ซึ่งเมื่อก่อสร้างเส้นทางนี้แล้วเสร็จ จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเกิดการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ อีกทั้งในขณะดำเนินการก่อสร้างโครงการยังสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการนี้ พบว่า เป็นโครงการที่มีความเหมาะสมในการลงทุน โดยช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 11.25% ขณะที่ผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่า ตลอดเส้นทาง รวมทั้ง 2 เฟส คือ กรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย มี EIRR อยู่ที่ 12.10% อย่างไรก็ตามหากที่ประชุมบอร์ด รฟท. มีมติอนุมัติโครงการฯ จะต้องทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลาสำหรับงานโยธา 3 ปี จากนั้นจะใช้เวลาติดตั้งงานระบบอาณัติสัญญาณ ตั้งเป้าหมายจะเปิดให้บริการหลังจากรถไฟไฮสปีดเฟส 1 เปิดบริการประมาณ 3-4 ปี หรือประมาณปี 72-73
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับแนวเส้นทางตลอดระยะทาง 356 กม. แบ่งเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กม. และทางรถไฟยกระดับ 171 กม. มีทั้งสิ้น 5 สถานี คือ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบํารุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และที่สถานีนาทา จ.หนองคาย พร้อมด้วยหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การออกแบบขนาดรางเป็น 1.435 เมตร โดยรถสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กม. ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที เบื้องต้นในส่วนของพื้นที่ที่ต้องเวนคืน เพื่อใช้ดำเนินโครงการนั้น จะกระทบต่อที่อยู่อาศัยประชาชน 19 อําเภอ ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ส่วนใหญ่มีผลกระทบอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง.