เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่หอประชุม อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.อุทัยธานี พร้อมมอบนโยบายว่า พื้นที่ จ.อุทัยธานี มีแหล่งน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำจึงต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้เป็นจังหวัดถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจะเป็นลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนได้ รัฐบาลมีความห่วงใยและมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ศึกษาและบูรณาการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางในระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ให้บูรณาการแผนงาน/โครงการ จัดหาแหล่งน้ำใต้ดินร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเชิงพื้นที่ในระยะเร่งด่วน และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งทำการสำรวจความเดือดร้อน พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งให้ จ.อุทัยธานี เร่งเสนอแผนงาน/โครงการสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้กลไกอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามาส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วย อันจะเป็นการตอบสนองความต้องการใช้น้ำและแก้ไขปัญหาด้านน้ำได้อย่างตรงจุด

ด้านนายศักดิ์ดา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จ.อุทัยธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3 โครงการ จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 3 แห่ง เกษตรกร 25 ราย พื้นที่ 190 ไร่ ปริมาณน้ำ 87,600 ลบ.ม./ปี 2.โครงการพัฒนาน้ำบาดาลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ขนาดพื้นที่ 500 ไร่ จำนวน 1 แห่ง เกษตรกร 15 ราย ปริมาณน้ำ175,200 ลบ.ม./ปี และ 3.โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน จำนวน 2 แห่ง 400 ครัวเรือนปริมาณน้ำ 233,600 ลบ.ม./ปี ขณะที่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จะถึง จ.อุทัยธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 4 โครงการ จำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 9 แห่ง เกษตรกร 72 ราย พื้นที่ 540 ไร่ ปริมาณน้ำ 262,800 ลบ.ม./ปี 2.โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 300 ไร่ จำนวน 3 แห่ง เกษตรกร 30 ราย พื้นที่ 900 ไร่ ปริมาณน้ำ 262,800 ลบ.ม./ปี 3.โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 500 ไร่ จำนวน 1 แห้ง เกษตรกร 15 ราย พื้นที่ 500 ไร่ ปริมาณน้ำ 175,200 ลบ.ม./ปี และ 4.โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม จำนวน 1 แห่ง 300 ครัวเรือน ปริมาณน้ำ 233,600 ลบ.ม./ปี ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก ทั้งด้านเกษตรกรรมและด้านอุปโภคบริโภค ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น