ชุมชนหลายแห่งมีทุนที่สามารถนำมาใช้เพื่อก้าวสู่การเป็น “เอสเอ็มอีชุมชน” ได้ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกับขั้นตอนที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชนเสียก่อน โดยที่น่าสนใจมีอยู่ 7 ขั้นตอน ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลมาฝากกัน…

สำหรับแนวทางเรื่องนี้เป็นข้อมูลจาก โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. โดย ขั้นตอนของการเป็นผู้ประกอบการชุมชน ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1.หาลูกค้าให้เจอ เพื่อขายให้ถูกที่ เช่น จะขายให้ใคร ให้ลูกค้าอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร หรือมีลักษณะนิสัยอย่างไร เมื่อรู้จักลูกค้าแล้ว ต่อมาต้องหาให้เจอว่าลูกค้าของเราอยู่ที่ไหน เพื่อที่จะวางสินค้าได้ถูกตำแหน่ง 2.หาต้นทุนที่มีและไม่มีให้เจอ  เพราะในการผลิต ต้นทุนคือสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีต้นทุนก็ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ ซึ่งต้นทุนก็คือทรัพยากร วัตถุดิบ เงินทุน แรงงาน รวมถึงต้นทุนทางความคิดสร้างสรรค์ 3.ค้นหาว่ามีค่าใช้จ่ายอะไร ในการผลิตค่าใช้จ่ายคืออีกสิ่งที่ต้องคำนวณ  โดยเมื่อคำนวณรายจ่ายทั้งหมดได้แล้ว ต่อมาคือการคำนวณราคาขายที่คุ้มค่ากับรายจ่ายที่เสียไป และรายจ่ายสำคัญที่มักจะถูกมองข้ามคือ ต้นทุนแอบแฝง เช่น ค่าส่งของ ค่าน้ำ-ไฟ ค่าน้ำมันในการขนส่ง เป็นต้น 4.วิธีการผลิตที่ใช้ ที่จำเป็นต้องมองให้ครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นผลิตจนถึงสินค้าส่งถึงมือลูกค้า

5.ต้องเชื่อมโยงชุมชน เพราะหัวใจสำคัญของสินค้าชุมชนนั้น ต้องมีการเชื่อมโยงชุมชนตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ ทรัพยากร แรงงานคน สถานที่ในการผลิต รวมถึงการคืนกำไรหรือขยายผลประโยชน์ร่วมกันในชุมชน 6.ต้องสร้างคุณค่าให้สินค้า ให้เป็นมากกว่าการตั้งราคา เริ่มจากค้นหาว่าสินค้ามีข้อดีอะไรที่ทำไมต้องซื้อ? เพื่อนำเสนอให้เห็นว่าสินค้ามีคุณค่าและแตกต่างจากแหล่งอื่นอย่างไร เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่ต้องจ่ายเงินซื้อ และสุดท้าย 7.ค้นหาว่ารายได้มาจากที่ใด เช่น ดูว่าช่องทางจำหน่ายแบบไหนที่จะทำให้เกิดรายได้มากที่สุด …และนี่เป็น “7 ขั้นตอน” ที่ผู้ประกอบการ หรือ “เอสเอ็มอีชุมชน” น่าพิจารณา ส่วนจะใช้มากกว่าหรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับเทคนิคและการนำไปปรับใช้ของผู้ประกอบการในแต่ละคน.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]