หลังจาก โยคีปอ-ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ และ โยคีโรเบิร์ต-ไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ 2 ผู้ต้องหาจาก คดีดาราสาว แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ต จมแม่น้ำเจ้าพระยาเสียชีวิต เมื่อกลางดึกวันที่ 24 ก.พ. ไปเข้าทำพิธีบวชโยคีพราหมณ์ สถานปฏิบัติธรรม ชยันโต โพธิธรรมรังสี หรือชื่อเดิม “ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย” ตั้งอยู่หมู่ 7 ถนนห้วยผาก-บ่อหวี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และยังเป็นที่ตั้งของ มูลนิธิสิริสาโร หลวงพี่อุเทน ซึ่งมีอาณาบริเวณมากกว่า 70 ไร่ ทำให้สังคมจับตาเป็นอย่างมากถึงที่มาที่ไปของสถานที่ปฏิบัติธรรมดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ราชพัสดุ ว่าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่นั้น

ย้อนปูมหลัง “สวนผึ้งโมเดล” แก้รุกที่ราชพัสดุ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ ได้ทำการตรวจสอบ สถานที่ตั้ง ของสถานปฏิบัติธรรม ชยันโต โพธิธรรมรังสี หรือ ชื่อเดิม คือ ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย พบว่าเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ที่ทางกองทัพบกได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย ให้ดูแลรักษา คุ้มครอง ป้องกัน และใช้ประโยชน์ โดยมีกองพลพัฒนาที่ 1 เป็นหน่วยที่ได้รับมอบอำนาจให้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ ทะเบียนแปลงราชพัสดุ ที่ ร.บ.553


โดยพื้นราชพัสดุใน อ.สวนผึ้ง ส่วนใหญ่เป็นป่าและมีภูเขาขึ้นสลับซับซ้อนเป็นจำนวนมาก และมีเข้าไปบุกรุกถือครองกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางภาครัฐโดยกรมธนารักษ์กับกองทัพบกจึงร่วมกันแก้ไขปัญหาการบุกรุกด้วยการจัดให้ผู้บุกรุกเช่า โดยจังหวัดราชบุรีได้ออกเป็นประกาศ การใช้พื้นที่ราชพัสดุ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ต.ค.46 เกี่ยวกับการถือครองที่ดินราชพัสดุ สรุปเนื้อหาได้คือ หากพื้นที่ดังกล่าว ปรากฏร่องรอยการทำกิน มาตั้งแต่ก่อน ปี 2546 ก็สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้ โดยการขอเช่า จากกรมธนารักษ์ แต่หากมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่หลัง จากปี 2546 ถือว่าเป็นผู้บุกรุก ต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด ต่อมาทางกรมธนารักษ์ ได้ออกระเบียบ ขึ้นมา ตามโครงการ รัฐ เอื้อ ราษฎร โดยมีการกำหนด เงื่อนไขการขอเช่าพื้นที่ราชพัสดุ จากกรมธนารักษ์ 5 ข้อ คือ 1.ต้องเป็นพื้นที่อยู่ในแผนที่กายภาพ 2.ถ้าเป็นพื้นที่จากการตกสำรวจ ต้องพิจารณา ร่วมกัน ระหว่าง กรมธนารักษ์ และหน่วยงานทหาร 3.ต้องปรากฏว่ามีการทำกินมาก่อน วันที่ 4 ต.ค.46 4.พื้นที่ต้องมีความลาดชัน ไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์ และ 5.ต้องไม่เป็นพื้นที่อยู่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ


ซึ่งมีกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545 ในการจัดให้เช่าพื้นที่ราชพัสดุ เป็นการจัดให้เช่าเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกโดยให้เช่าทำประโยชน์ได้ 2 กรณี คือ เช่าเพื่อประกอบการเกษตร และ เช่าเพื่อที่อยู่อาศัย โดยคิดอัตราค่าเช่าไร่ล่ะ 20 บาท/ปี และให้ทำสัญญาเช่าได้คราวละ 3 ปี แล้วต่อสัญญาใหม่ทุก 3 ปี ซึ่งที่ดินที่ สถานปฏิบัติธรรม ชยันโต โพธิธรรมรังสี ที่ครอบครองอยู่นั้น ทีมข่าวได้ทำการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ขอที่ 2 ข้อที่ 3 ข้อที่ 4 ข้อที่ 5 แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่าทาง สถานปฏิบัติธรรม ชยันโต โพธิธรรมรังสี ไม่ได้ยื่นเรื่องขอเช่า แต่เป็นการขอใช้พื้นที่จากสำนักงานธนารักษ์ ซึ่งการขอใช้พื้นที่นั้น กฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563 กำหนดไว้ในข้อ 2 ว่าผู้ขอใช้พื้นที่หมายความส่วนราชการและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ขอใช้ ซึ่งสถานปฏิบัติธรรม ชยันโต โพธิธรรมรังสี ไม่ใช่ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงไม่สามารถขอใช้พื้นที่ได้ และการขอใช้พื้นที่นั้นต้องได้รับความยินยอมจากกองทัพบกก่อนจึงจะเสนอไปยังธนารักษ์พื้นที่ต่อไป


ส่วนการขอใช้ พื้นที่ราชพัสดุ นั้น ก็มีกฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563 ระบุในข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้ ว่า “ ผู้ขอใช้ที่ราชพัสดุ” หมายความว่า ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขอใช้ที่ราชพัสดุ “ผู้ใช้ที่ราชพัสดุ” หมายความว่า ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้ใช้ ปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ และ “ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ” หมายความว่า ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้อำนาจในการใช้ ปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ จากกฎกระทรวงฯ นี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ใช้ หรือผู้ขอใช้ ที่ดินราชพัสดุ จะปรากฏแค่เพียงส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขอใช้ที่ราชพัสดุ เท่านั้น


บริเวณที่ตั้ง สถานปฏิบัติธรรม ชยันโต โพธิธรรมรังสี นั้น ชาวบ้านในพื้นที่มักเรียกว่า เนินเหมืองกู่ เพราะที่ผ่านมาช่วงประมาณปี พ.ศ. 2500 ที่บริเวณนี้ เป็นที่ตั้งบริษัทเหมืองแร่ดีบุก โดยเจ้าของเหมือง เป็นคนทางภาคใต้ มาดำเนินกิจการเหมืองแร่ดีบุก ในช่วงนั้น ต่อมาได้เลิกกิจการไปกว่า 40 ปี ซึ่งพื้นที่ บริเวณดังกล่าวในสมัยก่อนพบว่ามีสายแร่ดีบุกผ่าน.